พระโพธิสัตว์กวนอิม วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม เจ้าแม่กวนอิม

28 มีนาคม วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม 2567

องค์หญิงเมี่ยวซ่าน หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม ตามตำนานของ นิกายมหายานฝ่ายจีน องค์หญิงเมี่ยวซ่าน ประสูติวันที่ 19 เดือน 2 ตามปฎิทินจันทรคติจีน ซึ่งในปีนี้ วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม จะตรงกับวันที่ 28 มีนาคม ตามปฏิทินไทยนั่นเอง

Home / NEWS / 28 มีนาคม วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม 2567

วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม

องค์หญิงเมี่ยวซ่าน หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม ตามตำนานของ นิกายมหายานฝ่ายจีน องค์หญิงเมี่ยวซ่าน ประสูติวันที่ 19 เดือน 2 ตามปฎิทินจันทรคติจีน ซึ่งในปีนี้ วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม จะตรงกับวันที่ 28 มีนาคม ตามปฏิทินไทยนั่นเอง

เมื่อใดที่ทุกคน ได้ยินคำว่า พระโพธิสัตว์ ชื่อแรกหรือ ที่คนนึกถึง นั่นก็คือ พระโพธิสัตว์กวนอิม นั่นเอง เพราะชาวไทยรู้จักพระแม่กวนอิม หรือ พระโพธิสัตว์ ผ่านเรื่องราว หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม reincarnated princess 1985 หรือ แม้แต่เรื่อง เทพนิยายไซอิ๋ว ก็ตาม เพราะพระแม่กวนอิมที่เราคนไทยได้รับรู้ประวัติของท่าน คือ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นตัวแทนแห่งความเมตตา มีความอบอุ่น ดุจมารดา มีความเข้มแข็งดุจบิดา มีคุณธรรมเทียมฟ้า มีความเพียรและเสียสละอันหาที่เปรียบมิได้ และ ทุกท่านที่นึกถึงท่านทั้งยามทุกข์ ยามสุขก็จรรโลงใจ เสมอ แต่ในทาง พระพุทธศาสนา ฝ่ายนิกายมหายานนั้น พระองค์ท่านก็เป็นประธานแห่ง พระโพธิสัตว์ ทั้งปวงที่อยู่ใกล้โลกมนุษย์ที่สุด

ประวัติเจ้าแม่กวนอิม

วันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม

สำหรับประวัติของพระแม่กวนอิม ซินแซขอเล่าตามประวัติที่เล่าขานตามตำนานขององค์หญิงสาม พระธิดาเมี่ยวซาน ของฮ่องเต้เมี่ยวจวง ดังนี้นะคะ เพื่ออรรถรสในการศึกษาประวัติของท่านด้วย

องค์หญิงเมี่ยวซ่าน หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม ตามตำนานของนิกายมหายาน ฝ่ายจีน องค์หญิงเมี่ยวซ่าน ประสูติวันที่ 19 เดือน 2 ตามปฎิทิน จันทรคติจีน องค์หญิงเมี่ยวซ่าน เป็นพระราชธิดาองค์เล็กของกษัตริย์แห่ง อาณาจักรซิงหลิง น่าจะอยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้น พระบิดามีพระนามว่า ฮ่องเต้เมี่ยวจวง กับพระมารดามีพระนามว่า ฮองเฮาเซี่ยวหลิน องค์หญิงเมี่ยวซ่าน มีพี่น้อง 2 พระองค์ ตามลำดับ คือ องค์หญิงเมี่ยวอิม และ องค์หญิงเมี่ยวหยวน ซึ่ง สามคนพี่น้องของท่านต่างมีนิสัยแตกต่างกันทั้งสิ้น

ในวัยเด็ก องค์หญิงเมี่ยวซ่าน หรือ องค์หญิงสาม มักจะมีนิสัยที่แตกต่างอย่างโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น คือ เป็นที่ใจดีมีเมตตา ชอบศึกษาหาความรู้ ชอบศึกษาศิลปวิทยา การแพทย์ การปกครอง ศาสตร์พยากรณ์ปรัชญาจีนโบราณ ซึ่งแตกต่างจากองค์หญิงโดยทั่วไป และ ใส่ใจการดูแลบ่าวไพร่ เป็นที่รักของผู้คน และเป็นคนไม่ตกใจง่าย ท่านชอบศึกษาหาความรู้ตั้งแต่เด็ก จิตใจโอบอ้อมอารีและมักจะค้นหาความหมายของชีวิตอยู่เสมอ

ในรัชสมัยของฮ่องเต้เมี่ยวจวงนั้น ท่านนับได้ว่า เป็นฮ่องเต้ที่จิตใจโหดร้าย มักใฝ่หาความเป็นใหญ่อยู่เสมอ พระองค์ทรงทำสงครามอยู่บ่อยครั้ง เกณฑ์แรงงานคน เพื่อไปรบ และสร้างอาณาจักร ผู้คนล้มตายจากสงคราม พลัดพรากจากคนรักครอบครัวสูญหาย พระองค์ทรงไม่ได้ใฝ่ทางธรรม หรือ ใส่ใจคำสอนของพระพุทธศาสนามากนัก จึงเป็นเรื่องยากที่ในสมัยนั้น คนจะเข้าใจเรื่อง ศีลธรรมและหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา สมัยนั้นนับว่า ศาสนาพุทธในแผ่นดินจีนยังไม่ค่อยรุ่งเรืองมากนัก จึงเป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าใจเรื่องธรรมะ ยังนับถือผี เทพ สิ่งงมงาย ไร้หนทางแห่งปัญญาธรรม ซึ่งต่างจาก องค์หญิงสาม พระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งค้นหาสัจธรรมแห่งปัญญาชีวิต เพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ เพราะความเมตตาอารีคือความสุขที่แท้จริงที่มวลมนุษย์ทุกคนพึงมี คราวนี้เกิดคำถามแล้วสิว่า องค์หญิงสามจะพบหลักธรรมอันลึกซึ้ง ตรัสรู้ธรรมเป็น พระโพธิสัตว์ได้อย่างไร ซินแซขอเล่าอย่างมีอรรถรสนะคะ

การเป็นฮ่องเต้ปกครองแผ่นดินของจีน แต่ไร้ องค์ไท่จื้อ หรือ รัชทายาท เป็นเรื่องที่ ซีเรียสมากของราชวงศ์ ฮ่องเต้ เมี่ยวจวง มีลูกสาว สามคน ซึ่งมีนิสัยที่แตกต่างกัน พระองค์หญิงองค์โต องค์หญิงเมี่ยวอิม มีนิสัย ชอบความหรูหรา ชอบความเป็นใหญ่ เอาแต่ใจ ชอบใช้อำนาจ และฟุ่มเฟือย ไม่อาจเป็นใหญ่ได้ คนเป็นใหญ่หรือนักปกครองต้องมีความเมตตาและคุณธรรม ซึ่งองค์หญิงองค์โตไร้คุณสมบัติในข้อนี้ แม้ด้านสติปัญญาก็ยังไม่เด่นชัด ไม่อาจจะปกครองแผ่นดินได้ องค์หญิงองค์รอง เมี่ยวหยวน ก็เป็นองค์หญิง ที่เป็นองค์หญิงจริงๆ นิสัยอ่อนโยน จนเกินไป ไร้คุณสมบัติของการปกครอง ดังนั้นองค์หญิงสามเมี่ยวซานจึงเป็นที่หมายตาของฮ่องเต้เมี่ยวจวง ว่า ลูกสาวคนเล็กนี้ น่าจะเป็นนักปกครอง ที่ได้ เวลามีปัญหาราชกิจใด ท่านก็จะปรึกษา องค์หญิงสามอยู่เสมอ แต่ทว่าองค์หญิงสาม ไม่ได้สนใจ เรื่องอำนาจ ราชบัลลังก์ใดใดเลย ท่านใส่ใจความสุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นหลัก ท่านจะหมั่นปลอมตัวออกพบใกล้ชิด ประชาชนและชาวบ้านอยู่เสมอ เพื่อทราบถึงทุกข์สุขของชาวบ้าน ท่านจะสอนและช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เนืองนิจ แต่ด้วยท่านมีวาสนา ต่อ พระพุทธศาสนาและศึกษาปรัชญาคัมภีร์เต๋าอยู่เสมอที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติและความมีเมตตาและการอยู่รวมกันของมนุษย์ ปรัชญาอี้จิง วันหนึ่งที่ท่าน ออกเยี่ยมประชาชน ด้วยบุญสัมพันธ์กับพระศาสนา ท่านมีโอกาสได้พบ ผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเซียนแปลงกายมา บางตำราบอกว่า เซียนท่านนั้นคือ เจียง จื่อ หยา บ้างก็บอกว่า คือ ท่านไท่ไป๋ หรือ ท่านไท่ซ่างเหล่าจวิน จากจุดนี้เอง จึงทำให้ ตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิม จึงมีเรื่องของเทพเซียนทางลัทธิเต๋ามาด้วย เมื่อท่าน ได้ให้ตำราโบราณมา ส่วนใหญ่ก็เป็นตำราทางพระพุทธศาสนา ท่านก็เพียรอ่านเพียรศึกษา เป็นยิ่งนัก และเกิดความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น แต่มีตำราเล่มหนึ่งที่ท่านได้มา( อันนี้ซินแซ ขอเล่าเพื่อเพิ่มความเป็นอรรถรส นะคะ ตามในหนัง กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม เวอร์ชั่นของ เจ้าหย่าจือ 1985 ) เป็นตำราไร้อักษร ซึ่งก็คือตำรากระดาษเปล่านั้นเอง องค์หญิงมีความอยากรู้ซึ้งถึงพระธรรม และ หาคำตอบจากตำรานี้ แต่หาความหมายเท่าใดก็หาไม่เจอ ท่านจึงตั้งปณิธานว่า ถ้าท่านมีวาสนาที่จะมีปัญญาได้ค้นพบ ความรู้ที่จะช่วยมวลมนุษย์ให้พ้นทุกข์ขอให้ค้นพบ หนทางแห่งวิชาจากตำรานี้ด้วยเทอญ คำขอร้องของ องค์หญิงเมี่ยวซ่าน สะเทือนถึงฟ้าดิน

ตัวอักษรในตำรา ไร้อักษรจึงปรากฏขึ้นว่า

“ ดินแดนสวรรค์ มิห่างหาย
ฝังอยู่ภายในใจ ของเรานี้
มิต้องดั้นด้นค้นหา องค์เจดีย์
ใจเรานี้ คือ ที่สถิตเอย“
(คำกลอนในบทละคร กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม 1985 )

จากการที่ องค์หญิงสาม ได้เห็นข้อความปรากฏในตำราไร้อักษร ทำให้ตื้นตันใจ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นยิ่งนัก และ ท่านอยากจะหาคำตอบของสัจธรรมแห่งชีวิต เพื่อช่วยมวลมนุษย์จึงได้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะออกบวช จึงได้ตัดสินใจออกบวช เป็นแม่ชี ในวันที่ 19 เดือน 9 เรื่อง ทราบถึง พระบิดา ฮ่องเต้เมี่ยวจวง ฮ่องเต้เมี่ยวจวง ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่ง เพราะหมายมั่นปั้นมือ ให้องค์หญิงสามทรงเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์มังกร จึงได้ประกาศจัดหาราชบุตรเขย อีกทั้งอวยยศ ให้องค์หญิงสาม แต่องค์หญิงสาม มีจิตใจแน่วแน่แล้วที่จะบวชเพื่อศึกษาธรรม ฮ่องเต้เมี่ยวจวง จึงโกรธมาก จึงได้สั่งให้องค์หญิงสาม ไปทำงานหนัก ด้วยหวังว่างานหนัก และ อุปสรรคจะเปลี่ยนใจเจ้าหญิงได้ จึงสั่งให้พระองค์หญิงไปเป็น นางกำนัล ไปดูแล สวนดอกไม้ ทำงานซักรีด แบกหาบน้ำ ทำงานหนัก แต่ด้วย บุญญาธิการของพระนางที่มีวาสนา ต่อ พระศาสนา ทุกครั้งที่ทำงานหนัก แบกน้ำ ฝนทั้งให้เป็นเข็ม โม่แป้ง งานซักรีดใดใดก็ตาม ก็จะมีเหล่าเทพเซียน มาช่วยเหลือ เสมอในยามที่ท่านหลับ หรือ ตอนที่ท่านไม่เห็นก็ตาม งานดูแลสวนต้นไม้ ต้นไม้ก็โตออกดอกดี แบกน้ำ น้ำก็เต็มไว ตามเวลาที่กำหนด ในช่วงเวลานั้น ที่ทำงานยามว่าง ท่านก็ได้ศึกษาหาความรู้หลักธรรมคำสอนต่างๆ ด้วย อย่างมีความสุข มิได้ทุกข์ใด จากนั้น เมื่อพระเจ้าเหมี่ยวจวงรู้เรื่องว่า ความลำบากนี้ไม่อาจเปลี่ยนความตั้งใจ พระองค์หญิงสามได้ จึงมีความโกรธเป็นอย่างมากจึงได้ขับไล่ องค์หญิงสามออกนอกวัง ไปอยู่วัดนกยูงขาว และกำชับ แม่ชีและเหล่าซื่อไท่ว่า ให้องค์หญิงสามทำงานหนัก เยี่ยงทาส ให้ทำงานของวัดทั้งหมด ห้ามให้ใครช่วยเด็ดขาด คำสั่งของ ฮ่องเต้ ใครก็ห้าขัดขืน แต่ องค์หญิงสาม ไม่ได้กลัวความยากลำบาก เลย ท่านก็ได้ไปอยู่ที่วัด นกยูงขาว และ ทำงานหนักโดยมิเกี่ยงงาน การได้อยู่ที่วัดนี้ กลับทำให้ท่านมีความสุขยิ่งนัก มีเวลาได้ศึกษาหลักธรรม มีความก้าวหน้าในธรรมะ มีดวงตาเห็นธรรมมากขึ้น จากการบำเพ็ญนี้ บารมีสะเทือนฟ้าดิน เหล่าเทพเซียน เทวดา ต่างมาอารักขา ช่วยงานท่าน เพื่อ ให้ท่านได้ศึกษาธรรมะ เป็นกุศลต่อพระพุทธศาสนา จากนี้ไป ก็จะเป็นเรื่องราวของเกร็ดอภินิหารของ พระแม่กวนอิม 3 ครั้ง 3 คราว ดังนี้ ขอให้ท่านตั้งใจฟังอย่างมีอรรถรสนะคะ

เมื่อองค์หญิงสาม ท่านได้ไป บวชอย่างตั้งใจ ที่วัดนกยูงขาว มาระยะหนึ่ง ฮ่องเต้เมี่ยวจวง จึงได้มาดู หวังว่ารับลูกสาวกลับวัง ไปเป็นองค์หญิงตามเดิม คิดว่างานหนักแบบนี้ ยังไงก็ต้องกลับมาแต่งงาน รับราชบุตรเขยแน่นอน เมื่อฮ่องเต้เมี่ยวจวง ไปถึง กลับยิ่งผิดหวัง หรือ ช็อตฟีล ยิ่งกว่าเดิม พระองค์หญิงสาม ดูมีพระพักตร์มีความสุข ไม่มีทุกข์ใดใด อยู่สบายดี แม้จะทำงานหนักทุกวันมิได้เกี่ยง และ ที่สำคัญ พระองค์หญิง ไม่ขอกลับวังเป็นองค์หญิง ขอบวชต่อไป เพื่อศึกษา ธรรมะ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะฝากชีวิตไว้กับพระพุทธศาสนา

เจ้าแม่กวนอิม

ฮ่องเต้เมี่ยวจวง เมื่อได้ไปเห็นพระธิดาไม่เปลี่ยนใจ และดูไม่เหนื่อยโทรม ก็โกรธเหล่านางชี ซื่อไท่ หาว่า ไม่ทำตามคำสั่ง จึงได้สั่งให้ เผาทำลายวัด ฆ่าแม่ชีวัดนกยูงไปพร้อมๆ กับ องค์หญิงสามเลย จากเหตุการณ์ตรงนี้ จากการคิดสังหาร องค์หญิงเมี่ยวซ่าน จึงได้มีตำนาน อภิหารเจ้าแม่กวนอิม 3 เหตุการณ์ ตามนี้

  1. ครั้งแรกสั่งเผา วัดนกยูงขาว ให้ไฟเผาไหม้วัดพร้อมกับแม่ชี ซือไท่ให้ตายทั้งเป็น พร้อมกับองค์หญิงสาม เหตุการณ์ ณ ครั้งนั้น มีอภินิหารเกิดขึ้น ใน ขณะที่ไฟไหม้วัด เหล่าแม่ชีหนีตายกลับถูกไฟไหม้ตายทั้งหมด แต่พระแม่กวนอิมมีฐานบัวมารองรับตรงที่นั่ง นั่งบนฐานบัว แม่ชีที่วัดมรณะทั้งหมด องค์หญิงสามหรือเจ้าแม่กวนอิม รอดโดยปาฏิหาริย์
  2. ครั้งที่ 2 เมื่อ ฮ่องเต้เมี่ยวจวงรู้ว่า พระองค์หญิงสาม รอดตาย ก็สั่งให้ประหารชีวิต องค์หญิงสาม ได้ถูกจับตัวไปลานประหาร แต่ทว่าเกิด อภินิหาร 3 ครั้ง เพชรฆาต ลงมือ บั่นคอเจ้าหญิง กระบี่มีดประหารหักลง 3 ครั้ง ฮ่องเต้เมี่ยวจวงโกรธมาก จึงได้สั่งประหาร เพชรฆาตฐานทำงานไม่สำเร็จ
  3. ครั้งที่ 3 กำเนิดตำนาน เสือขาว ช่วย พระโพธิสัตว์ จากการที่ พระองค์หญิง ฆ่าไม่ตาย 2 ครั้ง 2 คราว คราวนี้ ฮ่องเต้เมี่ยวจวง จึงมีรับสั่ง ให้นำผ้าแพรขาว ให้องค์หญิงสามปลิดชีพตัวเอง ผูกคอตาย อภินิหาร ครั้งที่ 3 นี้ สะเทือนถึงเทพ ไท่ไป๋ ในขณะที่องค์หญิงสาม ผูกคอนั้น เชือกได้ขาด หลุดลง เทพไท่ไป๋ จึงได้ แปลงกายเป็นเสือขาว รับร่างพระองค์หญิงสามที่ร่วงลงมาจากเชือก นำตัวออกไป จากการประหารครั้งนี้ (เทพไท่ไป๋ คือ ดาวธาตุทองหยาง คือตำแหน่งเสือขาวในทางฮวงจุ้ย ) ทำให้ ฮ่องเต้เมี่ยวจวงคิดว่า การที่เสือเอาองค์หญิงสามไป อย่างไรก็ต้องตายด้วยเป็นเหยื่อเสือร้ายอย่างแน่นอน แต่เหตุการณ์นี้ ท่านได้รับการอนุเคราะห์จากเทพ ไท่ไป๋จวินซิน ดังนั้นตำนานพระแม่กวนอิมจึงเกี่ยวข้องกับ ลัทธิเทพเสมอ ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้เอง

จากตำนาน เสือขาวช่วยชีวิตนี้ เสือขาวได้นำองค์หญิงสาม เมี่ยวซานได้ขึ้นไปบนภูเขา ต่อจากนั้น ท่านเทพไท่ไป๋ ที่เป็นเสือขาวจึงแปลงกายเป็น เซียนผู้เฒ่า คอยชี้แนะ ไขปริศนาธรรม คอยดูแลเพียรสอนวิชา จนในที่สุด องค์หญิงสาม จึงได้บรรลุธรรม ในวันที่ 19 เดือน 6 ดังนั้นในวันที่ 19 เดือน 6 จึงถือว่าเป็นวันตรัสรู้ของพระแม่กวนอิม

ต่อจากนั้น ในเวลาไม่นานบาปกรรมได้มาเยือน ฮ่องเต้เฒ่าเมี่ยวจวง ฮ่องเต้เฒ่าเกิดป่วยด้วยโรคร้าย ไม่มียา และหมดหนทางรักษา แม้แต่หมอหลวงหรือหมอเก่งทั่วแผ่นดินก็มิอาจรักษาอาการป่วยของฮ่องเต้เมี่ยวจวงได้ แต่ด้วยญาณบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ที่องค์หญิงเมี่ยวซ่านได้บำเพ็ญ ได้ทรงทราบด้วยปรีชาญาณอันบริสุทธ์ว่า พระบิดาเจ้าเมี่ยวจวง ถึงคราวเคราะห์กรรมหนักมาเยือนแล้ว ด้วยมหากตัญญูกตเวทิตาเป็นเลิศ พระองค์มิได้ถือโทษโกรธพระบิดาแม้แต่น้อย การรักษาโรคประหลาดแห่งเวรกรรมในครั้งนี้ ต้องใช้เลือดเนื้อ ในการรักษา องค์หญิงสาม เมี่ยวซ่าน ไม่ได้กลัวใดใดเลย มีแต่ความกตัญญูมั่น ที่จะตอบแทนคุณพระบิดา จึงได้ ควักลูกตา และตัดแขน มาทำยา เพื่อรักษา ฮ่องเต้ เมี่ยวจวงพระบิดา ให้หายจากโรคภัย มหากตัญญูของท่าน สะเทือนฟ้า สะเทือนดินไปทั่วจักรวาล อานิสงส์นี้ทำให้ท่านสำเร็จมรรคผล เป็นพุทธอริยะ จากนั้น ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ดวงตาที่บอด กลับมีดวงตาขึ้น แขนที่ขาดหาย ก็มีแขนออกมา เกิดอภินิหาร ให้ทุกคนได้เห็น เป็นพระโพธิสัตว์พันเนตร พันกร จากความเมตตา กตัญญูสะท้านแผ่นดิน ในการบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยะ นี้ จึงได้เกิด บทสวดสรรเสริญถึงคุณความดีท่าน คือ มหากรุณาธารณีสูตร ไต่ปุยจิว 84 อภินิหารของพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง

เจ้าแม่กวนอิม

ต่อจากนั้น องค์หญิงเมี่ยวซ่าน ก็สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ ถือว่าเป็นพุทธอริยะ ในช่วงชีวิตของท่านก็ได้โปรดสัตว์ ตามหลักคำสอนของ พุทธศาสนาเรื่อยมา

ตำนานของพระโพธิสัตว์กวนอิมยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในตำนานกล่าวว่า หลังจากที่ท่าน บรรลุมรรคผลสำเร็จเป็น พระโพธิสัตว์พุทธอริยะแล้ว พระยูไล(พระพุทธเจ้าของเรานี่แหละคะ)ก็ ก็เชิญท่านเข้าสู่แดนนิพพาน ทันใดนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังเดินทางสู่แดนนิพพาน ท่านได้ยินเสียงร้องของคน และ มวลหมู่สัตว์มากมาย ด้วยจิตแห่งพระโพธิสัตว์ผู้มีมหากรุณาเป็นที่ตั้ง เมื่อได้เข้าเฝ้า พระยูไล พระยูไลจะให้ท่านเข้าสู่แดนนิพพาน พ้นเขตทุกข์แห่งห้วงสงสาร ท่านจึงไม่ขอเข้าสู่แดน พุทธภูมินิพพาน ท่านจึงตอบ กลับ พระยูไลพุทธเจ้าไปว่า ศิษย์ยังไม่ขอกลับสู่แดนพุทธภูมิ ณ เวลานี้ “หากเวไนยสัตว์ ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏมิอาจเข้าสู่แดนนิพพาน ศิษย์ขอเป็นคนสุดท้าย ที่จะเดินสู่แดนพุทธภูมิ”

จากมหาปณิธานนี้ สะเทือนฟ้าดินไปยังทุกดินแดน พระยูไล จึงทรงอนุญาตให้พระองค์หญิงเมี่ยวซาน ช่วยโปรดเวไนยสัตว์ ต่อไป และได้ ประทานชื่อ ให้ว่า พระแม่กวนอิม พระกวนอิม หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือ กวนอิมผู่ซ่า มีความหมายว่า พระผู้สดับฟังเสียงแห่งโลก หรือ ผู้ได้ยินเสียงแห่งทุกข์ของสัตว์โลกนั่นเอง จุดนี้ จึงเป็น พระนามของพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่เรารู้จักหรือตำนานพระแม่กวนอิม

ในยุคของราชวงศ์ถัง พระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้น ยังมี สมณะหมื่นลี้ ที่คนรู้จักไปทั่วโลก คือ สมณะเสวียจ้าง หรือ คนไทยรู้จักกันในนาม พระถังซัมจั๋ง ที่อยู่ในตัวละครสำคัญ ไซอิ๋ว นั่นเอง ท่านได้ธุดงค์ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่แคว้น นารันทา ประเทศอินเดีย ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพระพุทธศาสนา เมื่อท่าน ได้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมาก็ได้กลับแปลตำรา ของพุทธศาสนาในประเทศจีน และ ในยุคสมัยของท่าน ท่านได้แปลตำรา และ มีบทสวดสรรเสริญที่กล่าวถึง การค้นพบสัจธรรมของพระโพธิสัตว์ หรือ หัวใจแห่งพระโพธิสัตว์ ท่านจึงได้ประพันธ์บทสวด ปรมิตาหทัยสูตร ไว้อีกด้วย และบทสวดนี้ก็เป็นบทสวดหนึ่งที่ใช้สวดสรรเสริญพระโพธิสัตว์กวนอิมมาถึงปัจจุบัน ในยุคของพระถังซัมจั๋งและถังไท่จง นั้น คนเลื่อมใสพระพุทธศาสนา และ พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นอย่างมาก

ฮ่องเต้ถังไท่จง ถือว่า เป็น ฮ่องเต้ผู้ปรีชาเพราะไม่มีฮ่องเต้องค์ไหนในประวัติศาสตร์จีนยิ่งใหญ่เท่าถังไท่จงอีกแล้ว และ ยุคของพระองค์คือ ยุคทองของ ราชวงศ์ถังและประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย ถังไท่จง มีนามเดิม แซ่หลี่ นามว่า ซื่อหมิน หรือ หลี่ซื่อหมิน ในยุคของพระองค์มีการสร้างพระโพธิสัตว์กวนอิม และ ศรัทธาเจ้าแม่กวนอิมเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้น จึงมีการใส่พระนามท่าน คือ คำว่า ซื่อ ลงไปในพระนามพระโพธิสัตว์กวนอิมด้วย ดังนั้น นามของพระแม่กวนอิม จึงมีหลายชื่อ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กวนอิม ผู่ซ่า กวนซื่ออิมผู่ซ่า หนันไห่กวนซื่ออิมผู่ซ่า ด้วยประการฉะนี้ นั่นเอง ดังนั้น ในยุคของ ฮ่องเต้ถังไท่จง จึงเป็นยุคทองของทุกแขนง ในประวัติศาสตร์จีน รวมถึงพระพุทธศาสนา และตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิม ในสมัยนั้น ในยุคของ พระเจ้าถังไท่จง และ พระนางบูเช็คเทียน ก็มีการสร้างวัดพระแม่กวนอิมมากมาย ในประเทศไทย ก็มี พระโพธิสัตว์กวนอิมสมัยราชวงศ์ถัง ที่เราสามารถไปสักการะได้ ที่ มูลนิธิเทียนฟ้า วงเวียนโอเดี้ยน เยาวราช กรุงเทพ นะคะ

สำหรับ ใครที่ไปกราบไหว้พระแม่กวนอิม ที่ศาลเจ้าจีน หรือ วัดจีน หรือ คอหนังจีน มักจะได้เห็น พระยูไล หรือ พระศากยมุนีพุทธเจ้าของเรา ยืนประดับอยู่ตรงกลาง แล้วมีพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ยืนอยู่ข้างซ้ายและขวา อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาได้ว่า องค์ไหนคือพระแม่กวนอิม และ พระแม่อีกท่าน คือ ใคร วันนี้มีคำตอบค่ะ

สำหรับ พระโพธิสัตว์ที่ประทับอยู่ข้างซ้าย ของพระยูไล ในมือถือแจกัน พร้อมกิ่งหลิว คือ พระแม่โพธิสัตว์กวนอิม หรือ “หนันไห่กูฝนั่น” พระโพธิสัตว์ทะเลใต้ นั่นเอง ทรงฉลองพระองค์สีขาว เป็นตัวแทนแห่งความเมตตา ส่วนอีกพระองค์ ประทับอยู่ทางด้านขวามือ ในพระหัตถ์ถือดอกบัว ใส่ฉลองพระองค์ สีแดง คือ พระโพธิสัตว์ จันทรปัญญา มีพระนามว่า “ฉือปุ่ยเนี้ยว” เป็นตัวแทนของ ของอำนาจ ในการกำหราบ อาสวะกิเลส ความงมงายแห่งทุกข์ทั้งปวง กุศโลบาย แห่ง การมาของพระพุทธองค์ยูไลกับสองพระโพธิสัตว์นี้ คือ การมีธรรมะและการชนะกิเลสทั้งปวงด้วยความเมตตาและความกล้าหาญนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราไปกราบสักการะพระโพธิสัตว์ ก็จะได้รับความรู้มากขึ้น ไว้มีโอกาสซินแซ จะมา เล่าถึง ตำนานของเทพเจ้าจีน ให้ท่านผู้ติดตามเอ็มไทย อีกนะคะ

ศิษย์น้อมกราบ มหากรุณาปณิธาน อันยิ่งใหญ่ ของ พระโพธิสัตว์กวนอิม
หนันไห่กู่ฝอ พระมหาโพธิสัตว์แห่งทะเลใต้ทุ่งไผ่ม่วง
กวนซื่อ อิมผู่ซา ผู้สดับฟังเสียงของโลก
บทความโดย ตงฟางซินแซ นางพญาโหงวเฮ้ง ราชินีโหราศาสตร์จีน

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

คำสอนเจ้าแม่กวนอิม ฉบับอ่านง่าย เข้าใจเร็ว

บทสวดเจ้าแม่กวนอิม และรายละเอียดการบูชา

วิธีสักการะ ขอพรพระโพธิสัตว์กวนอิม (เจ้าแม่กวนอิม)