menu search

ทำไมของเหลวที่นำขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร

schedule | TRAVEL, ท่องเที่ยว, เครื่องบิน

ทำไมของเหลวที่นำขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และทำไมของเหลวใน Duty Free ถึงเอาขึ้นเครื่องได้ แล้วต้องทำยังไง จึงจะสามารถนำของเหลว เจล สเปรย์ ขึ้นเครื่องบินได้ วันนี้มีคำตอบมาให้ค่ะ

ไขข้อสงสัย? ทำไม ของเหลวที่นำขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร

ของเหลว เจล สเปรย์ (Liquids, Aerosols and Gels : LAGs) หมายถึง ของเหลวในรูปแบบต่าง ๆ แบ่งแยกได้ดังนี้

– อาหารที่มีของเหลวในปริมาณมาก เช่น ซุป น้ำ เครื่องดื่ม น้ำเชื่อม แยมสตูว์ ซอส น้ำพริก น้ำจิ้ม
– เครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น น้ำมัน น้ำหอม
– เจล เช่น ยาสีฟัน ยาสระผม เจลอาบน้ำ
– วัตถุที่ต้องฉีดพ่น เช่น สเปรย์ โฟม
– สิ่งที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคาร่า ลิปสติกชนิดน้ำ ลิปกลอส

เงื่อนไขในการนำของเหลวเจล สเปรย์ ขึ้นเครื่อง

– ของเหลว เจล และสเปรย์ทุกชนิด ต้องบรรจุในภาชนะที่มีขนาด ความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร สำหรับภาชนะที่เกิน 100 มิลลิลิตร แม้จะบรรจุของเหลว เจล และสเปรย์ เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้

– ภาชนะทั้งหมดต้องใส่รวมกันไว้ในถุงพลาสติกใส ซึ่งเปิด – ปิด ผนึกได้ และมีความจุรวมกันไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร

– ผู้โดยสารสามารถนำถุงพลาสติกใสขึ้นเครื่องได้คนละ 1 ถุง โดยต้องแยกออกจากสัมภาระติดตัวอื่น ๆ และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ณ จุดตรวจค้น

– ของเหลว เจล สเปรย์ที่มีความจุเกิน 100 มิลลิลิตร ต้องบรรจุในกระเป๋าสัมภาระที่ท่านจะบรรทุกลงใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อผ่านขั้นตอน เช็คอิน เท่านั้น

– ของเหลวที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ นม และอาหารสำหรับเด็กทารก ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงยาที่มีเอกสารกำกับชัดเจน

– ของเหลว เจล สเปรย์ ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร (Duty free shops) ณ ท่าอากาศยาน อนุญาติให้นำขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องบรรจุในถุงพลาสติกใส ปิดผนึกปากถุง ไม่มีร่องรอยการแกะ การฉีกขาด หรือการเปิดปากถุง และมีหลักฐานแสดงว่าได้ซื้อในวันที่เดินทาง เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้น

อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศจะมีกฎ การนำของเหลว ขึ้นเครื่องแตกต่างกัน ผู้โดยสารควรสอบถามจากสายการบินที่จะเดินทางให้ชัดเจนก่อนที่จะซื้อสินค้า

ทำไม ของเหลวที่นำขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร?

  • เพราะของเหลวที่มีปริมาณเกินกว่า 100 มิลลิลิตร สามารถนำไปใช้เป็นสารประกอบระเบิดได้ อย่างกรณี ในเดือนธันวาคม 2552 เมื่อนายอับดุล ฟารุก อุมาร์ อาบูลมูตาลลับ แอบนำผงสารเคมีและของเหลวปริมาณมากขึ้นเครื่องบิน เพื่อพยายามระเบิดเครื่องบินสายการบินหนึ่งในยุโรป

กรมการขนส่งทางอากาศ ในประเทศไทย จึงออกมาตรการห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตามกฎระเบียบขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2550

ของเหลวใน Duty Free ทำไมขึ้นเครื่องได้?

สินค้าที่เป็นของเหลว ที่วางขายในร้านดิวตี้ฟรีทุกชนิด จะผ่านการตรวจสอบจากทางท่าอากาศยานอยู่แล้ว และเมื่อนำสินค้าขึ้นเครื่องจะมีถุงใส่ให้อย่างมิดชิด มีตราประทับเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของของเหลวที่จะนำขึ้นเครื่อง

ได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยกันแล้ว ขึ้นเครื่องบินครั้งถัดไป ก็อย่าลืมปฏิบัติตามกฏระเบียบของแต่ละสายการบิน ให้ถูกต้องด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : AOT Official, CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand, caat

RELATED