ประเด็นน่าสนใจ
- วันนี้มีพิธีฌาปนกิจศพ น.ช.ซีอุย แซ่อึ้ง มาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี
- ทางกรมราชทัณฑ์ เตรียมหารือ นำอัฐิ 'ซีอุย' ลอยอังคารหรือเก็บไว้ที่วัด
- การที่ไม่มอบอัฐิไปให้กับชาวอำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะไม่อยากให้มีการนำไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
วันนี้ (23 ก.ค.63) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมพิธีฌาปนกิจศพ น.ช.ซีอุย แซ่อึ้ง ภายหลังนำร่างจากพิพิธภัณฑ์ รพ.ศิริราช มาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดบางแพรกใต้
สำหรับกำหนดการประกอบด้วย เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ประกอบพิธีบําเพ็ญกุศล ก่อนที่ในเวลา 11.00 น. จะมีพิธีถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุสงฆ์ จํานวน 9 รูป และในเวลา 12.00 น. เริ่มพิธีสวดมาติกาบังสุกุล (ทอดผ้าบังสุกุล) พิธีฌาปนกิจ ก่อนที่ในเวลา 13.00 น. จะประกอบพิธีฌาปนกิจ
หลังจากที่รพ.ศิริราชมอบร่างนายซีอุยคืนให้กับกรมราชทัณฑ์ จากการนำร่างไปศึกษาเป็นเวลากว่า 60 ปี จนมีการเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2562 ทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้รับร่างมาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการฌาปนกิจ
จากนั้นจะทำอัฐิไว้ที่วัดบางแพรกใต้ก่อน และจะพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะมีการติดป้ายชื่อ หรือ นำไปลอยอังคาร เนื่องจากนายซีอุยไม่มีญาติมารับอัฐิ ส่วนการที่ไม่มอบอัฐิไปให้กับชาวอำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะไม่อยากให้มีการนำไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พ.ต.อ. ณรัชต์ กล่าว
ทั้งนี้ถือว่าในวันนี้เป็นการร่วมกันทำบุญ ปิดตำนานซีอุยมนุษย์กินคน ส่วนเรื่องคดีความ นายซีอุยถือว่าได้ชดใช้ไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังได้นำร่างนักโทษชายชาวกัมพูชาคดีฆ่าผู้อื่น ที่ถูกประหารชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2545 แต่ไม่มีญาติ ติดต่อประสาน ขอนำร่างไปบำเพ็ญกุศล กรมราชฑัณฑ์ จึงได้จัดพิธีให้ร่วมกันในวันนี้
ประวัติ 'ซีอุย'
มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง แต่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ตำบลฮุนไหล จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน ในวัย 18 ปี ถูกเกณท์ทหารที่มณฑลเอ้หมึง ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และเข้ามาประเทศไทย ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ทางเรือโปรดิว ในระยะ 8 ปีแรกที่พำนักในประเทศไทย ซีอุยไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใด ๆ นอกจากคดีทะเลาะวิวาทบ้างเป็นบางครั้ง
บันทึกคำให้การ
ซีอุย ถูกจับในคดีเด็กชายสมบุญ ที่ระยอง คดีดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเข้าคดีเก่าอีก 2 คดี คือ คดีฆาตกรรมที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2489 ที่กรุงเทพมหานคร และคดีฆาตกรรมที่องค์พระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2500 โดยรูปแบบและการฆาตกรรมลักษณะเดียวกัน ตำรวจจึงมุ่งเป้าไปที่ซีอุย ซีอุยถูกนำตัวมาสอบสวนตั้งแต่คืนวันที่ 27 มกราคม 2501
มีการบันทึกคำเป็นหลักฐานลงในวันที่ 30 มกราคม เนื่องจากซีอุยพูดและอ่านเขียนไทยไม่ได้การสอบสวนแต่ละครั้งจึงมีล่ามจีนอยู่เสมอ เนื้อหาของบันทึกปากคำฉบับวันที่ 30 มกราคม มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ยอมรับคดีที่ระยอง และปฏิเสธข้อกล่าวหาคดีกรุงเทพและคดีนครปฐม ซีอุยยอมรับคดีที่ระยองว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรก[7] โดยกล่าวนัยว่า "ไม่เคยฆ่าคนเพื่อจะเอาตับและหัวใจมากินเลย"
คดีที่กรุงเทพ
ซีอุยได้กล่าวทำนองว่า "ที่กรุงเทพฯ ข้าฯ เคยได้ยินคนพูดกันว่ามีคนฆ่าเด็กแล้วเอาสมอง เมื่อประมาณ 1 ปีเศษๆ ขณะนั้น ข้าฯ พักอยู่จังหวัดพระนคร โดยอยู่บ้านนายบักเทียม แซ่ไล้ แต่ข้าฯ ไม่ได้ไปดู” และซีอุยยังให้การปฏิเสธในบันทึกปากคำครั้งนี้
“การฆ่าเด็กรายนี้ ข้าฯ ไม่ได้ทำร้าย ใครทำร้าย ข้าฯ ไม่ทราบ…"
"ในการที่มีคนฆ่าเด็กแล้วผ่าท้องที่นครปฐมนั้นทราบข่าวเหมือนกัน โดยขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดย ข้าฯ ค้างที่นครปฐม 1 คืน ได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ไปดูเพราะรอรถไฟด่วนจะกลับทับสะแก แต่ใครจะเป็นคนฆ่า ข้าฯ ไม่ทราบ…"
อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ ซึ่งซีอุยถูกจับได้ในที่เกิดเหตุเท่านั้น
ซึ่งมีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2502 และหลังจากถูกประหารชีวิต ศพของซีอุยถูกนำมาดองเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ภายในโรงพยาบาลศิริราช