menu search

คมนาคม ผุดไอเดียติดเครื่องฟอกอากาศบนรถเมล์ ด้าน อ.เจษฯ ไม่เห็นด้วย

schedule | NEWS, รถเมล์

ประเด็นน่าสนใจ

  • คมนาคมคิดแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถเมล์
  • โดยใช้หลักการเคลื่อนที่ของรถ เพื่อนำอากาศเข้ามาในท่อ และมีไส้กรองอากาศ
  • ด้าน อ.เจษฯ ไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำใช้ไม่ได้จริง
  • ชี้หากอยากแก้ปัญหาจริง ควรเปลี่ยนหันมาใช้รถไฟฟ้าแทน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในการจัดทำเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่ ซึ่งจะติดบนหลังคารถ

โดยจะเริ่มติดตั้งกับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นำร่องเส้นทางละ 3 คัน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 129 เส้นทาง ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมแล้วประมาณ 387 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

สำหรับเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่ จะใช้หลักการเคลื่อนที่ของรถเพื่อนำอากาศเข้ามาในท่อ และมีไส้กรองอากาศ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทดลองให้รถเมล์ ขสมก.ติดตั้งบนหลังคา ในการทดสอบค่าของอากาศว่าเครื่องดังกล่าวสามารถฟอกได้ตามทฤษฎีหรือไม่ เพื่อเป็นต้นแบบที่จะใช้กับรถคันอื่นๆ ต่อไป และขยายผลไปในพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไปด้วย

ทั้งนี้ จากการทดสอบแบบจำลองสถานการณ์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะฟอกอากาศได้ 2 หมื่นคิวต่อ 1 ชั่วโมง ต่อ 1 คัน ซึ่งคนปกติจะใช้อากาศบริสุทธิ์หายใจประมาณ 0.5 คิวต่อชั่วโมง ซึ่งรถเมล์ 1 คัน หากวิ่ง 1 ชั่วโมง อากาศบริสุทธิ์จะรองรับคนได้ 40,000 คน

ทั้งนี้หลังจากข่าวดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ้นเปลืองงบประมาณ และหากจะแก้ไขปัญหาฝุ่งพิษจริง ก็ควรเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแทน

ไปกันใหญ่แล้วครับ มีการเด้งรับไอเดียกันด้วย ... ทำเครื่องฟอกอากาศในสภาพพื้นที่เปิด แบบบนหลังคารถเมล์อย่างนั้น มันตำน้ำพริกละลายแม่น้ำชัดๆ นอกจากจะเปลืองงบประมาณแล้ว ยังแสดงถึงความเขลาทางวิชาการด้วยนะครับ

เอาเครื่องฟอกอากาศที่คิดจะไปติดบนหลังคารถเมล์นั้น ลงมาติดในห้องผู้โดยสารของพวกรถเมล์ปรับอากาศ (ที่เวลาส่วนใหญ่จะปิดประตูไว้ ทำให้เหมือนกับเป็นสภาพพื้นที่ปิด) ยังจะมีประโยชน์มากกว่ามากครับ

และถ้าผู้บริหารทางกระทรวงคมนาคมและ ขสมก. มีวิสัยทัศน์ มีกึ๋นจริง ก็ควรจะต้องมีแผนการเปลี่ยนรถเครื่องยนต์สันดาปดีเซลทั้งหมด ให้กลายเป็นรถเมล์ไฟฟ้าได้แล้วครับ นั่นคือทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

RELATED