menu search
นานาทัศนะกลุ่มการเมือง กับ ปมร้อนใหม่ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’

นานาทัศนะกลุ่มการเมือง กับ ปมร้อนใหม่ 'ร่างรัฐธรรมนูญ'

schedule | NEWS, นปช, ประชาธิปัตย์, พรรคการเมือง, ร่างรธน., ร่างรัฐธรรมนูญ, เพื่อไทย
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนการเมือง เรื่อง 'ร่างรัฐธรรมนูญ' และ 'การปฏิรูปประเทศ' ถูกนำมาถกถึง 2 เวที โดยเวทีแรก คือ "การเสวนาเรื่องพลเมืองร่วมปฏิรูปประเทศ" จัดขึ้นโดยหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น หรือ กสต.รุ่นที่ 5 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติ (สปช.) นายเอกณัฎ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมวงเสวนา ร่างรัฐธรรมนูญ Bangkok, THAILAND: An activist lays a wreath at the Democracy monument during a demonstration in Bangkok, 11 October 2006. The activist dressed in black a T-shirt with the slogan 'Freedom Now', stood on the steps of the Democracy monument holding signs calling for the return of civil liberties to the Thai people. AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL (Photo credit should read PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชน กล่าวว่า การปฏิรูปต้องทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนไม่ถูกบิดเบือน เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ โดยที่ผู้มีอำนาจควรเปิดใจรับฟัง หากไม่สามารถทำได้ ประเทศจะวนเวียนอยู่ในเหตุการณ์ประชาชนออกมาแสดงจุดยืนบนท้องถนน เพราะระบบตัวแทนไม่ดีพอ ไม่ฟังเสียงประชาชน ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่างขึ้นใหม่ ต้องสร้างหลักประกันในการฟังเสียงของประชาชน และเปิดช่องให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศ ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจถึงความเท่าเทียมของประชาชน การปฏิรูปประเทศ จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ใช้อำนาจมาตรา 44 มาบังคับ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น หากไม่เป็นประชาธิปไตยต่อให้ร่างอีกกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางผ่านความเห็นชอบของประชาชน และเนื่องจาก รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อความเป็นกลาง นักการเมืองจึงไม่ควรอยู่ในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง สนช. และ สปช. ส่วนคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แค่เข้าใจประชาชนและประชาธิปไตย ขณะที่ คสช. ควรปลดล็อคมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อการหลุดกรอบจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ถูกคว่ำไป นอกจากนี้ กรรมาธิการยกร่างฯชุดที่ผ่านมา ไม่ควรกลับมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญและควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ แก้ในเรื่องการตรวจสอบ ส่วนสูตรการร่างรัฐธรรมนูญ 6-4-6-4 เป็นกรอบเวลาที่ คสช. สามารถสร้างขึ้นขึ้นเองโดยไม่สนใจว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะหากรัฐบาลชุดนี้อยากอยู่ในอำนาจ ก็ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่หากคิดจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ก็ควรคืนแบบร้อยเปอร์เซนต์ ด้านเวทีที่สอง การเสวนาในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?" ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ จัดโดยกลุ่มเครือข่ายประชาธิปไตยใหม่ โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ร่วมวงเสวนา นาย จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช. ไม่ควรมีส่วนในการกำกับ หรือกำหนดเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแนวคิดในการคัดเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ขณะเดียวกันใครเข้ามาทำหน้าที่เป็น ประธาน กรธ. นั้น เรื่องตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญว่าจะต้องมีวิสัยทัศน์ แนวทาง กระบวนการและนโยบายที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย แม้จะมีหน้าตาของประธาน กรธ. ที่ดี แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็ไม่มีทางได้รัฐธรรมนูญ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยได้ ดังนั้นประชาชนควรจะมีส่วนร่วม และทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงจะต้องผ่านกระบวนการประชามติที่เป็นสุจริต อิสระ ปราศจากการแทรกแซง นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะลอกเลียนแบบจากประเทศเยอรมันทั้งฉบับ แต่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถเรียกว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยได้ พร้อมเชื่อว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป คสช. ก็ยังคงแนวทางให้ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาคล้ายกับฉบับที่ถูกคว่ำไป เพื่อให้ประชาชนเสียอำนาจและการเลือกตั้งหมดความหมาย นอกจากนี้ ยังมี 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ร่างรัฐธรรมนูญ" และ "การปฏิรูปประเทศ" โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการร่างใหม่ มีการยอมรับจากทุกภาคส่วน และทำให้เกิดการปฏิรูปได้จริง ส่วนกรณีที่ คสช. ควบคุมตัวบุคคลที่แสดงความเห็นทางการเมืองนั้น อยากให้การเปิดโอกาสและไม่ปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี หากมีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมที่จะให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หาก คสช.และรัฐบาล กำลังจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมอยากเห็นบรรยากาศความร่วมมือ การเปิดใจร่วมกันแก้ไขให้หลุดพ้นปัญหาเดิม เพื่อสู่การปฏิรูปตามความตั้งใจของประชาชน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าถึงโควตาให้พรรคการเมืองเข้าไปในคณะกรรมการยกร่างฯหรือไม่ หากเข้าไปได้จริง แต่เข้าไปไม่ครบ ก็อาจเกิดปัญหาและถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยและร่วมมือกันสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาเพื่อประชาชน ติดตามรายงานพิเศษอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >>> MThai News

RELATED