'ทุกครั้งที่แสงไฟในห้องผ่าตัดถูกเปิดขึ้น หมายถึงจุดเริ่มต้นแห่งความหวังของชีวิตน้อยๆ แสงไฟในห้องผ่าตัดคงจะไม่ถูกเปิด หากเราไม่มีศัลยแพทย์ผุ้มีประสบการณ์ ความสามารถ และจิตใจที่พร้อมช่วยเหลือ'
เชิญชวนร่วมทำบุญ คืนคุณภาพชีวิตและช่วยชีวิตผู้ป่วยเด็ก ครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี 2567 นี้ กับ กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ร่วมกับ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดทำโครงการ 'แสงแห่งความหวัง ปาฏิหาริย์สู่ชีวิตใหม่' โครงการเพื่อการปรับปรุงห้องผ่าตัด สำหรับช่วยเหลือชีวิตเด็กๆ ให้ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยมีนางเอกสาวขวัญใจมหาชน เบลล่า ราณี แคมเปน เป็นตัวแทนโครงการ 'แสงแห่งความหวัง ปาฏิหาริย์สู่ชีวิตใหม่' ร่วมเชิญชวนคนไทยสร้างปาฏิหาริย์ไปด้วยกัน พร้อมอาสาช่วยถ่ายทอดและเผยแพร่ให้ประชาชนรู้จัก และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพเด็กไทย ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไป ในงาน 'Little Miracle แสงแห่งความหวัง ปาฏิหาริย์สู่ชีวิตใหม่' โดยงานจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคมนี้ เวลา13.00 น. ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์-ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ชั้น 27 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนางเอกสาวสวยสายบุญ เบลล่า ราณี แคมเปน รับหน้าที่เป็นตัวแทนโครงการ 'แสงแห่งความหวัง ปาฏิหาริย์สู่ชีวิตใหม่' อาสาส่งต่อกองบุญนี้แก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการฯ ร่วมพูดคุยพร้อมกับทีมศัลยแพทย์ ซึ่งเบลล่าจะให้ความสำคัญถึงการดูแลสุขภาพกายของน้องๆ ให้แข็งแรงสมบูรณ์และให้ความอบอุ่นด้านจิตใจแก่เด็กๆ ของทุกครอบครัว โดยมี วีระกฤษณ์ วัชรศรีวราห์ รับหน้าที่พิธีกร
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก เป็นสถาบันที่ให้บริการการผ่าตัดโรคทางศัลยกรรมเด็กมากที่สุดในประเทศ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือที่รู้จักกันดีในนามโรงพยาบาลเด็ก รับรักษาผ่าตัดผู้ป่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี โรคต่อเนื่องจนถึงอายุ 18 ปี แบ่งเป็นตรวจรักษา ติดตามอาการผู้ป่วยนอกปีละเกือบ 10,000 ราย และผ่าตัดผู้ป่วยปีละ 1,700 ราย โดยประมาณ 1,000 รายเป็นทารกแรกเกิด โดยแบ่งตามกลุ่มโรคใหญ่ๆ ตั้งแต่กลุ่มโรคความพิการแต่กำเนิด เช่น ท่อปัสสาวะเปิดต่ำ หลอดอาหาร หรือลำไส้ตีบตัน ภาวะผนังหน้าท้องไม่ปิดแต่กำเนิดชนิดมีลำไส้ออกมานอกช่องท้อง โรคไม่มีรูทวารหนัก กลุ่มโรคเนื้องอกและมะเร็ง เช่น มะเร็งไต มะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งตับ และมะเร็งรังไข่และอัณฑะ รวมถึงที่เด็กเจออุบัติเหตุ อาทิ อุบัติเหตุทางรถ การกลืนกินสารเคมี ฯลฯ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 เป็นกลุ่มโรคความพิการแต่กำเนิด ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก และบางรายอาจต้องผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง ในการรักษาความพิการแต่กำเนิดเหล่านี้ เพื่อให้การทำงานและใช้งานของอวัยวะต่างๆ หายเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ทางศัลยแพทย์จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคการผ่าตัด เครื่องมือ เทคโนโลยีขั้นสูงในการผ่าตัดผู้ป่วย รวมทั้งห้องผ่าตัดและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนเหล่านี้ในอนาคตต่อไป
'การผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเด็กคนหนึ่ง นอกจากจากศัลยแพทย์แล้วจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลายชนิด' ซึ่งการ "ผ่าตัด" ผู้ป่วยเด็ก นั้น นับเป็นแสงสว่างแห่งความหวัง สู่ปาฏิหาริย์ชีวิตใหม่ สำหรับคนไข้ตัวน้อยๆ ที่เฝ้ารอความช่วยเหลืออย่างมีความหวัง ทางกองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก เล็งเห็นถึงปัญหาและแนวทางความช่วยเหลือเด็กๆมาโดยตลอด โดยมี วัตถุประสงค์ในการสนับสนุนสถาบันสุขภาพเด็กฯ ให้เป็นหลักของประเทศในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทางในเด็ก จึงก่อตั้งและสานต่อโครงการ 'แสงแห่งความหวัง ปาฏิหาริย์สู่ชีวิตใหม่' เพื่อเชิญร่วมบริจาคปรับปรุงห้องผ่าตัด ให้โอกาสผู้ป่วยเด็กได้เข้าถึงรับการรักษา ผ่าตัดรวมถึงการการดูแลหลังผ่าตัด เพื่อช่วยชีวิต ช่วยรักษาผู้ป่วย เสมือนเป็นการมอบโอกาส มอบชีวิตใหม่ให้น้องๆ และแบ่งเบาภาระของครอบครัว เพื่อเป็นอนาคตที่มีคุณภาพของชาติต่อไปในอนาคต