menu search

338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงแรกกรุงรัตนโกสินทร์

schedule | กรุงเทพมหานครฯ, ต้นพระศรีมหาโพธิ์, ต้นโพธิ์, วังหน้า, วัดมหาธาตุ, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระอารามหลวงแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระมณฑป

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ฯ เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” ไม่ปรากฎนามผู้สร้างวัด สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1) ทรงมาพบวัดนี้ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ และทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็น “พระอารามหลวงแห่งแรก” ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อจากวัดสลักเป็น “วัดนิพพานาราม”

เมื่อครั้งทำสังคายนาพระไตรปิฎก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามว่า "วัดพระศรีสรรเพชญ์" ต่อมาพระองค์ทรงจัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรม จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร" ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเพื่อปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอารามเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์"

มูลเหตุแห่งพระราชศรัทธา

สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีความผูกพันกับวัดมหาธาตุมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดราษฎร์ชื่อ "วัดสลัก" ด้วยในคราวที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ทรงเป็นนายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพรในพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปหาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงยกกระบัตรอยู่ที่เมืองราชบุรี เมื่อมาถึงเมืองบางกอกซึ่งมีด่านของพม่าตั้งอยู่ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ จึงหยุดเรือที่หน้าวัดสลัก อธิษฐานขอพระประธานในอุโบสถคุ้มครองให้รอดพ้นภัยจากข้าศึก แล้วจะกลับมาบำรุงวัดให้รุ่งเรือง ครั้งพอตกกลางคืนจึงคว่ำเรือซ่อนตัวลอยตามน้ำผ่านด่านพม่าไปได้ ไปพบกับหลวงยกกระบัตรผู้พี่แล้วไปสมทบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จันทบุรี จนได้เป็นแม่ทัพคู่พระทัยในการทำศึกขับไล่ศัตรู กอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ

สถาปนาพระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

พระอุโบสถ

เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใน พ.ศ. 2325 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชพระองค์แรก ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นที่ประทับอยู่ติดกับวัดสลักทางทิศเหนือ ในปีต่อมาจึงทรงสถาปนาวัดสลักขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของพระนครเมื่อ พ.ศ. 2326 โดยขยายพื้นที่วัดและสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม มีพระมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเป็นประธาน พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดนิพพานาราม” แล้วเปลี่ยนเป็น "วัดพระศรีสรรเพชญ์" ในคราวที่ทรงจัดการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2331 ซึ่งครั้งนั้นมีพระราชศรัทธาเสด็จมาประเคนเลี้ยงพระทุกวันตลอด 5 เดือน และต่อมาในพ.ศ. 2338 เสด็จมาทรงผนวชเป็นเวลา 7 วัน ครั้งถึง พ.ศ. 2346 เมื่อประชวรหนักใกล้สวรรคต ได้เสด็จมานมัสการลาพระประธานในพระอุโบสถ ทรงยกพระแสงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียนด้วยพระราชศรัทธาอย่างยิ่ง จึงได้นำพระราชอิริยาบถนี้มาสร้างพระบวรราชานุสาวรีย์เมื่อ พ.ศ. 2521 และนำเนื้อดินจากแผ่นดินที่ได้ทรงกรีฑาทัพไป 28 แห่ง มาบรรจุไว้ที่ฐาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงกอบกู้บ้านเมืองและทำนุบำรุงพระศาสนา รวมทั้งได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นโดยหลังพระองค์สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เปลี่ยนนามเป็นวัดมหาธาตุ อันเป็นนามสำหรับวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำราชธานีมาแต่โบราณ

จุดมูต้องมา!

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

พระอุโบสถ

พระศรีสรรเพชญ์

พระศรีสรรเพชญ์

เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน " พระศรีสรรเพชญ์" และ พระอรหันต์ 8 ทิศ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเมื่อแรกสถาปนาพระอาราม และได้ถูกไฟไหม้พร้อมพระมณฑปจึงโปรดให้สร้างใหม่ทั้งหลัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเลือนหมด ผนังทาสีพื้นขาว ภาพเขียนที่ผนังเป็นเรื่องชาดกต่างๆ และรูปเทพชุมนุม เสาทาสีเขียวลายทรงข้าวบิณฑ์ เพดานลายฉลุทอง ลักษณะพระอุโบสถในปัจจุบันเป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยภาพเทวดาเหาะด้านละ 3 องค์ เหนือขึ้นไปเป็นเทพพนม พื้นลายทั่วไปเป็นลายใบเทศก้านต่อดอก รอบพระอุโบสถมีสีมาตั้งประจำ 4 ทิศ ใบสีมาสลักเป็นภาพครุฑยุดนาค

พระมณฑป

พระมณฑป

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระมณฑปขึ้นเป็นประธานของวัดตั้งแต่แรกสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2326 โดยเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่มาของชื่อ "วัดมหาธาตุ" เดิมพระมณฑปนี้มีหลังคาเป็นเรือนยอดทรงมณฑป ด้วยโปรดให้นำตัวไม้เครื่องยอดของปราสาทที่มีพระราชดำริจะสร้างในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาสร้างมณฑปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดนี้แทน แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2344 เกิดเพลิงไหม้หลังคาเดิมจนหมด จึงโปรดให้สร้างหลังคาใหม่เป็นทรงโรงอย่างในปัจจุบัน และสร้างพระมณฑปทองสูง 10 วา ไว้ภายใน แทนพระมณฑปองค์เดิม หน้าบันพระมณฑปตกแต่งแสดงรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานอันเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

พระมณฑป สร้างครอบพระเจดีย์ทองซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวข้างต้นนั้น นอกจากนั้นยังมีพระพุทธที่นำมาจากเมืองเหนือ เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และที่กรุงเก่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนำมาประดิษฐานไว้ภายในพระมณฑปถึง 28 องค์ พระมณฑปนี้ทรงสร้างไว้ด้านทิศตะวันออกกึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร พระองค์ทรงเอาเครื่องไม้ที่จะทรงสร้างปราสาทในวังหน้า นำมาสร้างพระมณฑป แต่มณฑปที่สร้างด้วยเครื่องไม้นั้นถูกเพลิงไหม้ พระอุโบสถและพระวิหารก็ถูกไหม้ในครั้งนั้นด้วย พระองค์จึงทรงให้สร้างพระมณฑปใหม่ให้เป็นหลังคาทรงโรงอย่างที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน พระมณฑปนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ

พระพุทธรูปโบราณ 28 องค์

พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่รายรอบเฉลียงภายในพระมณฑป เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยและอยุธยา ซึ่งอัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้รวบรวมพระพุทธรูปหล่อจำนวนมากจากวัดร้างที่ปรักหักพังในเมืองพิษณุโลก สวรรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี และอยุธยา มาบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อประดิษฐานในวัดพระเชตุพนที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ และได้พระราชทานมายังวัดมหาธาตุ ประดิษฐานในวัดพระเชตุพนที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่และได้พระราชทานมายังวัดมหาธาตุ ประดิษฐานในพระวิหารหลวง 2 องค์ และในพระมณฑป 28 องค์ ซึ่งจำนวนพระพุทธรูปในพระมณฑปนี้เท่ากับพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ที่ได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก

พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ

พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุประดิษฐานในพระมณฑป เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงเครื่อง ฝีมือช่างยุคแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ที่วิจิตรตระการตา ในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ส่วนบนและบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไว้ที่ส่วนล่าง สันนิษฐานว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงได้แบบอย่างการสร้างพระเจดีย์ไว้ภายในพระมณฑปเช่นนี้มาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระเจดีย์อยู่ในพระมณฑป เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์

พระวิหาร

พระวิหาร

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระวิหารขึ้น เดิมยาว 12 ห้อง ได้รับการบูรณะให้มีมุขโถงทั้งข้างหน้าและข้างหลังในรัชกาลที่ 3 เพื่อให้พระวิหารยาวเท่าพระอุโบสถ ลักษณะ พระวิหารในปัจจุบันเป็นอาคารทรงไทย ฐานสูงมีมุขด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันพระวิหารเป็นรูปตราพระราชสัญลักษณ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีอักษณย่อว่า ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. อันมีความหมายว่า เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ

หลวงพ่อหิน

”หลวงพ่อหิน” ประดิษฐานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปหินโบราณเคยเป็นพระประธานองค์เดิมเมื่อครั้งยังชื่อวัดสลัก ต่อมาเมื่อสถาปนาเป็นพระอารามหลวง จึงได้อัญเชิญจากโบสถ์เก่า มาประดิษฐานยังพระวิหารหลวง

แผ่นศิลาจารึก

”แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา” (พิชัยสงคราม) อยู่ในพระวิหาร เป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏปีที่สร้าง พ.ศ.2228 แต่เดิมติดอยู่ที่ฐานพระประธาน ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลาประมาณ 33 ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหารมาจนถึงปัจจุบัน

คำแปล
พระแท่นบรรทม

นอกจากนี้ภายในพระวิหารยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรฯ พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2331 และ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ ที่ทุกท่านสามารถมากราบสักการะได้ทุกวัน

พระวิหาร
พิพิธภัณฑ์
พระปรางค์

พระปรางค์และพระเจดีย์

พระปรางค์

ตั้งอยู่ในเขตพระระเบียง ด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ มีเจดีย์ด้านละ 2 องค์ พระปรางค์ด้านละ 1 องค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หุ้มด้วยดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซ่อมและเอาดีบุกออก พระปรางค์องค์ใหญ่ 2 องค์ด้านหน้าพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

ระเบียงคต
ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์ลังกาต้นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดมหาธาตุ เป็นต้นโพธิ์ที่ได้มาจากลังกาเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมณทูตไทยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 โปรดให้เดินทางไปสืบประวัติพระศาสนาในลังกาทวีป ได้นำต้นพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากเมืองอนุราธปุระกลับมาถวายเมื่อ พ.ศ. 2361 จำนวน 3 ต้น จึงพระราชทานให้มาปลูกที่วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช 1 ต้น ให้ไปปลูกที่วัดสระเกศ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัต 1 ต้น และที่วัดสุทัศน์ซึ่งกำลังสร้างเป็นมหาวิหารกลางพระนคร 1 ต้น

ทั้งนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกานั้น เป็นต้นที่พระเจ้าอโศกมหาราชนำกิ่งพันธุ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกริมแม่น้ำเนรัญชราที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ ถวายให้พระสังฆมิตตาเถรีนำไปปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 255 ต้นโพธิ์ลังกาจึงถือเป็นบริโภคเจดีย์ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ควรแก่การเคารพบูชาเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์

พระวิหารน้อย

พระวิหารน้อย

พระนาคน้อย

พระนาคน้อย

พระวิหารน้อย หรือวิหารโพธิ์ลังกา ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิ์ลังกา เป็นวิหารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นตรงที่ตั้งตำหนักที่พระองค์เคยประทับเมื่อคราวทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ โดยให้ทำกำแพงแก้วล้อมพระวิหารและต้นโพธิ์ไว้ด้วยกัน บนหน้าบันพระวิหารมีรูปมงกุฎ ตามพระนามเดิมคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระประธานในพระวิหารมีนามว่า พระนาค เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอันมีลักษณะงดงาม มีผู้ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จไปประทับที่พระราชวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา โปรดให้ตั้งเป็นพระประธานในหอพระปริตรของพระราชวังนั้น เมื่อเสด็จไปครั้งใดก็จะทรงสักการะบูชาทุกครั้ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารนี้ตั้งแต่คราวปฏิสังขรณ์เมื่อราว พ.ศ. 2475

พัดตาลปัตร ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ปักพระปรมาภิไธยย่อ
เมื่อครั้งทรงผนวชที่วัดมหาธาตุ

หน้าบันพระวิหารมีรูปมงกุฎ

หน้าบันพระวิหารน้อยมีรูปมงกุฎ ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

กำแพงแก้ว

กำแพงแก้ว โอบรอบพระวิหารน้อย รวมอาณาเขตเข้ากับต้นโพธิ์

สมเด็จพระวันรัต

คาถาบูชาสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)

อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ลำดับที่ 14
(พ.ศ. 2466 - พ.ศ. 2486)

ตั้งนะโม 3 จบ

นะโม มะหาเถโร เขมะจารี นามะ
สัพพะกิจจะปะรินายะโก, สีหะเสโน อะโหสิ,
อะ กะ สะ อุ อา คะ มะ ระ ภะคะวาติ ติวาคะภะ,
นะโมพุทธายะฯ

การบูชาพระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณ
ย่อมหนุนนำความเจริญให้บังเกิดแก่ผู้บูชา
ด้วยจิตใจอันดีงาม นำพาความโชคดี ความสำราญ
สมดั่งมงคลนามของท่านว่า "เฮง"

สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท

พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท

พระมหาอุปราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ

สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ ดำเนินการสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ มีขนาดเท่าครึ่งอยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเป็นท่าจบเป็นพุทธบูชา ภายในบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีฑาทัพเข้ามาเหยียบรวมทั้งสิ้น 28 แห่งไว้ใต้ฐาน

งานสมโภชน์ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ

สมโภชน์ 338 ปี

เนื่องในโอกาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ครบ 338 ปี ทางวัดมหาธาตุฯ ได้รับความร่วมมือกับหลายภาคส่วน จัดงาน “บุญสมโภชครบรอบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์พระอารามหลวง กรุงเทพฯ” ขึ้น ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 22.00 น. เพื่อบูรณปฎิสังขรณ์วัดและพระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระปฐมบรมราชชนก คือพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 และพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาทฯ หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงสถาปนาวัด

นอกจากนี้ทางวัดมหาธาตุฯ ยังเปิดให้ร่วมบริจาคทรัพย์ 339 บาท รับพระสมเด็จอรหัง 1 องค์ พระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ สนามหลวง โดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (สุกไก่ เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา (จัดส่งถึงบ้าน) ทุกบาทมีค่า เป็นมหากุศล ร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชน์พระอาราม เลขที่บัญชี 905-0-22750-4

ที่อยู่ : 3 ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
Google map : https://maps.app.goo.gl/FE9F4LkTyGDzSrf27
เวลาเปิด - ปิด : 07.00 น. - 18.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก 7 สหชาติของพระพุทธเจ้าและความหมายของ สหชาติ

บรรยากาศงานพิธีอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร จากศรีลังกา

พิธีตักน้ำและดินศักดิ์สิทธิ์ เตรียมอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร