menu search

ริตา จิตติพาณิชย์ และ ภาคภูมิ ใจยา แห่ง PowerKid ทักษะแห่งอนาคต PowerKid ทักษะแห่งอนาคต บทพิสูจน์ ‘เรียนออนไลน์เวิร์คได้ด้วย Personal Life Learning’

schedule | TREND, Personal Life Learn-ing, PowerKid, Startup Thailand Marketplace, การเรียนรู้, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

หากจำกันได้เมื่อไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ใหม่ ๆ หนึ่งในวงการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ วงการศึกษา เมื่อชีวิตต้องเลี่ยงการพบปะกัน ระบบการเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นทางออกแบบจำยอมที่ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไรนัก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ

ปัญหาเหล่านั้นเป็นเส้นทางมาสู่การพัฒนา PowerKid แพลตฟอร์มการเรียนรู้ทักษะเเห่งอนาคตเเบบ ออนไลน์สอนสดตัวต่อตัว สำหรับเด็กอายุ 8-15 ปี จากการก่อตั้งของ ริตา จิตติพาณิชย์ และ ภาคภูมิ ใจยา สองสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่ครั้งหนึ่งพูดได้ว่าไม่รู้จักคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ แต่ตั้งใจอยากสร้างโลกแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับเด็กรุ่นใหม่

“ส่วนตัวริตาจบสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) แต่รู้สึกสาขาที่จบไม่ใช่ตัวเราเท่าไร เลยคิดข้ามมาสายธุรกิจ เลยมีความจำเป็นต้องสร้างพอร์ตก่อน ทำให้หันเข้ามาสู่การแข่งขันสตาร์ทอัพ ทั้งที่ไม่รู้จักสตาร์อัพด้วยซ้ำ พอแข่งหลายๆ เวที มองเห็น Pain Point ทำให้ตัวเองหันมาจริงจังกับการสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถใช้งานได้จริง”

ริตาตั้งเป้าจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม Edtech ทั้งที่ตัวเองไม่ได้จบสายนี้โดยตรง แต่เพราะสนใจด้านการศึกษา มีแพชชั่นในการสอนผู้คนมาตั้งแต่สมัยเรียน และผ่านการเป็นติวเตอร์สอนเพื่อนมาสารพัดเคส

“รู้สึกแฮปปี้ที่เห็นคนที่เราสอน สอบผ่าน รู้สึกดีใจที่ช่วยแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ด้วย รู้สึกว่าสิ่งนี้ช่วยคนได้เรียนรู้ดีขึ้น ทุกอย่างจึงเกิดจากประสบการณ์จริงของตัวเอง”

สองปีบนถนนเรียนผิดเรียนถูก
การถอดแนวคิดมาสู่ธุรกิจจริง ริตาไม่ได้ปิ๊งไอเดียมาเป็น PowerKid อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่มาจากการลงมือทำ Skoolkit แพลตฟอร์มการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่มาช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับคุณครูผู้สอนในชั้นเรียน ผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ การทดสอบความรู้ก่อนและหลังเรียนในรูปแบบเกมส์ เครื่องมือช่วยครูจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน

2 ปีผ่านไปกับ Skoolkit ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพลตฟอร์มได้รับการตอบรับที่ดี หากแต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอ เพราะผู้ใช้งานแพลตฟอร์มซึ่งเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง แฮปปี้กับการใช้งาน แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือก็คือคนควักกระเป๋าจ่ายเงิน กลับไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแพลตฟอร์ม

หลังจากตระเวนหาลูกค้ามากกว่า 100 โรงเรียน ถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ถึงแม้จะไม่ได้ลูกค้าเพิ่ม แต่ก็ได้เรียนรู้ Pain Point อีกมุม จนเกิดการฉุกคิดว่า ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า?

ริตาและภาคภูมิใช้เวลาไม่นานในการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เพราะได้ประสบการณ์จาก Skoolkit มาแล้ว ทำให้การต่อยอดมาเป็น Powerkid ทำได้รวดเร็ว เกิดเป็นแพลตฟอร์มพร้อมใช้งานเมื่อต้นปี 2022 นี้เอง โดยจุดเด่นที่ต่างจากแพลฟอร์มเดิม คือ มี ‘คอนเทนต์’ เป็นของตัวเอง มาผสมผสานกับเทคนิคการเรียนการสอนแบบ Personal Life Learning ให้ผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง

“จาก Pain Point สังเกตได้ว่าทักษะที่จะตอบโจทย์โลกอนาคต สำหรับการทำงานเป็นอาชีพในอนาคต ไม่มีสอนเลยในโรงเรียนบ้านเรา ซึ่งในเด็กอายุ 8-15 ปี พร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้แล้ว เพราะเมื่อศึกษาในต่างประเทศมีหลักสูตรแบบนี้แล้ว ทำให้มองเห็นช่องว่างตรงนี้” ริตาเล่าถึงแนวทาง ‘คอนเทนต์’

ไม่มีใครฉลาดไม่พอ’ หน้าที่ของครูคือสร้างจุดเชื่อมโยงให้เข้าใจได้
Powerkid เปิดคอร์สเรียนออนไลน์เป็น 3 ทักษะแห่งอนาคตที่โลกต้องการที่สุด ได้แก่ เทคโนโลยี, การเงินการลงทุน, การเป็นผู้ประกอบการ แบ่งเป็นคอร์สละ 3 ระดับ แต่ละคอร์สอาศัยผู้เชี่ยวชาญกลั่นกรองเนื้อหาก่อนนำเสนอให้เหล่าผู้ปกครอง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากพ่อแม่ ถึงนักเรียนจะไม่มาก แต่ก็เกิดการเรียนซ้ำไต่ level ขึ้นไป เพราะผู้ปกครองสมัยใหม่ต้องการให้ลูกได้เปิดกว้างการเรียนรู้ ที่สำคัญต้องการเตรียมความพร้อมให้ลูกๆ มีทักษะเพียงพอสำหรับอาชีพในอนาคต

จุดเด่นของ Powerkid อยู่ที่ความสะดวกไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ตลอดจนสไตล์การเรียนการสอน เรียกว่าแทบเป็นครูกับนักเรียน 1:1 และไม่ได้ให้ท่องจำหรือจด แต่เสมือนครูเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนมาคุยในหัวเรื่องที่เด็กสนใจ แต่ต้องให้ผู้เรียนเข้าใจตามวัตถุประสงค์ของคอร์ส

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน และ Powerkid จะดีมาก ๆ เราดูแลเด็กทุกคนแบบเคสบายเคส เพราะเด็กทุกคนมีความต่าง เราไม่ได้ใช้วิธีการสอนเดียวกันกับเด็กทุกคน แต่สุดท้ายเด็กได้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันหมด เพียงแต่การเรียนรู้ไม่ได้เป็นเส้นเดียวกันหมด

หน้าที่หลักของครู คือ ต้องทำให้น้องๆ นักเรียนเชื่อว่าสิ่งนี้ง่าย เข้าถึงได้สำหรับเขา เช่น เรื่องบัตรเครดิต ไม่จำเป็นต้องรอให้น้องโตก่อน แต่เขาเรียนรู้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งเด็กเล็กจะไม่มีกรอบ เมื่อเด็กสงสัยจะถามทันที การเรียนด้วยวิดีโอจะตอบโจทย์ความอยากรู้แบบนี้ของเด็กได้”

ก่อนเข้าเรียนจะมีคอร์สทดลองเรียนฟรี ให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองมาเรียนพร้อมกัน เพื่อทดสอบพื้นฐาน เรียนรู้พฤติกรรมของเด็ก ไปจนถึงความสนใจของเขาว่าชอบ-ไม่ชอบ หรือสนใจอะไร เพื่อนำมาใช้เลือกรูปแบบการสอนและครูที่เหมาะกับอุปนิสัยของเด็กคนนั้น โดยทุกคลาสมีการวัดผลความเข้าใจระหว่างคาบเรียน

“วิธีนี้ริตาปรับมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองจากการสอนเพื่อน ริตาไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่ได้เกรด 4 มาตลอด นั่นเพราะใช้วิธีจับจุดทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สำหรับริตาไม่มีคำว่า ‘ไม่มีใครความสามารถไม่ถึงหรือฉลาดไม่พอ’ แค่ต้องสร้างจุดเชื่อมหรือ connecting dot ให้น้องเชื่อมโยงเนื้อหาให้ได้” กว่าจะมาถึงจุดนี้ทั้งริตาและภาคภูมิล้มลุกมากหลายครั้ง ผ่านเวทีสตาร์ทอัพมาสารพัดรายการ ทีมาช่วยขัดเกลาความรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวแพลตฟอร์มไม่น้อย ซึ่ง NIA ก็เป็นเวทีหนึ่งที่มีส่วนช่วยทั้งเรื่องประสบการณ์และเงินทุน

“ตอนได้ทุนสนับสนุนจาก NIA ในโครงการ STeP youth startup fund 2021 เป็นส่วนสำคัญมากในช่วงเริ่มต้น เพราะการเป็นสตาร์ทอัพไม่มีใครการันตีได้ว่าโมเดลที่คิดจะสำเร็จและแพลตฟอร์มนั้นมีการใช้จ่ายทุกเดือน แหล่งเงินทุนจึงสำคัญ ทำให้มีพื้นที่สำรวจและทดลองว่าโมเดลธุรกิจของเราโอเคหรือไม่ ซึ่งทุนจาก NIA เข้ามาในช่วงเปลี่ยนเป็น Powerkid พอดี ริตามองว่าที่ได้ทุน เพราะเรามีผลลัพธ์ ถึงไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง แต่มีผลลัพธ์ที่ต่อยอดได้”

ตั้งเป้าเป็นคอร์สออนไลน์คุณภาพ ปูรากฐานเพื่ออนาคต
การปรับโมเดลครั้งนี้อาจเกิดคำถามว่า Powerkid ตั้งเป้าเป็นมาร์เกตเพลสสำหรับคอร์สออนไลน์หรือเปล่า? แต่ทั้งริตาและภาคภูมิมองว่า Powerkid เป็นแพลตฟอร์มสอนทักษะแห่งอนาคตที่มีคุณภาพ มุ่งไปสู่การเป็น Personal Life Learning Platform โดยมี Vipkid แพลตฟอร์มสอนภาษาอังกฤษของจีน ที่นำเจ้าของภาษามาสอนสดผ่านออนไลน์แบบไพรเวทเป็นแบบอย่าง

“ใน World Economic Forum ได้เปิดเผยทักษะอนาคตที่จะเกิดขึ้นในโลกอีก 10 ปีข้างหน้า จะแบ่งเป็น 8 กลุ่มอาชีพ 66 อาชีพย่อย ในอนาคตอยากพัฒนาคอร์สที่หลากหลายและแตกต่างให้เด็ก ๆ ได้เลือกเรียนเพื่อปูทางไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต” ภาคภูมิ ผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าถึงทิศทางของ Powerkid

“ทุกวันนี้สัดส่วนครูนักเรียน คือ 1:1 หรือ 1:2 เท่านั้น จึงจะได้ผลดี เคยจัดเป็นกลุ่ม 3 คนมาแล้ว ไม่เวิร์ค ซึ่งในอนาคตถ้ามีนักเรียนมากขึ้น จะต้องมีระบบที่ครูป้อนข้อมูลเข้าไปและระบบบอกได้ว่าครูควรใช้โมเดลไหนในการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนคนนี้ คือ ระบบช่วยให้เกิดการทำซ้ำได้ ช่วยให้ครูเก่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาระบบมาแทนที่ครู” ริตาเสริม

ความผิดพลาดคือการเรียนรู้ ล้มให้ไวลุกให้ไว
ไม่ว่าจะโตในทิศทางใด อย่างไร Powerkid ต้องเป็นระบบที่ ‘คน’ สอน ‘คน’ ไม่ใช่ VDO สอนคน เพราะผลลัพธ์ที่สองผู้ก่อตั้งภูมิใจ ไม่ใช่แค่ธุรกิจเติบโตได้ แต่ที่สุดคือการเห็นเด็กๆ ได้เปิดโลกมากกว่าเดิม เข้าใจในองค์ความรู้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอถึงอายุ 20 แต่เข้าใจได้ตั้งแต่วันนี้ นั่นหมายความว่า Powerkid ย่นระยะเวลาการเรียนของเด็กๆ ไปได้ถึง 10 ปี เปิดโอกาสให้นำความรู้ไปสร้างโอกาสชีวิตที่ดีขึ้น นำไปพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ในฐานะประชาคมโลก

ความภาคภูมิใจนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากอินเนอร์ส่วนตัว อย่างที่ริตาบอกว่า ถ้าในอดีตพวกเขามีโอกาสเข้าใจสตาร์ทอัพมากกว่านี้ เข้าถึงแหล่งเรียนรู้เร็วกว่านี้ อาจย่นเวลา 2 ปีที่เสียไปก็ได้ แต่อย่างไรเวลาทั้งหมดไม่ได้เสียเปล่า เพราะนี่คือกระบวนการหนึ่งที่หล่อหลอมทั้งสองผู้ก่อตั้งให้ก้าวมาวันนี้ “คนไม่เคยทำอะไรผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ถ้าผิดพลาดไปก็แค่ยอมรับ ที่สำคัญคือล้มให้ไวลุกให้ไว” ภาคภูมิเผยถึงคติการทำงาน เช่นเดียวกับริตาที่กล่าวในแนวทางเดียวกันว่า “ทุกคนต้องเคยพลาด นี่คือการเรียนรู้ การทำสตาร์ทอัพ Co-founder คือส่วนสำคัญ Edtech เป็นสตาร์ทอัพที่รีเทิร์นรายได้ยาก เมื่อเทียบกับสตาร์ทอัพประเภทอื่น เมื่อถึงจุดที่เหนื่อยมาก ไม่ใช่ทุกคนจะเดินไปพร้อมกับเรา ถ้ามี Co-founder ที่ดี ก็ทำให้มีกำลังใจไปต่อ”

ดติประจำใจ ภาคภูมิ : “คนไม่เคยทำอะไรผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย”
ริต้า : “ทุกคนต้องเคยพลาด นี่คือการเรียนรู้ “

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace
ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)