menu search

ทำไมเราถึงไม่ควรตระหนก กับรายงานพบการเชื้อ "NeoCOV"

schedule | TELL, NeoCoV, THE OPINION

ประเด็นสำคัญ

  • เชื้อ NeoCoV ไม่ใช่เชื้อที่พบใหม่ มีการค้นพบมาตั้งแต่ปี 2012
  • รายงานในขณะนี้ ยังคงเป็นรายงานการติดเชื้อ "ในค้างคาว"
  • มีเพียงรายงาน "ความเป็นไปได้" ที่ "อาจจะ" ติดเชื้อในคนได้
  • แต่นั่น เป็นเพียงการคาดการณ์-ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การรายงานข่าวการพบเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ชื่อว่า NeoCOV ในค้างคาว และมีการนำในช่วงที่ผ่านมา ไวรัสชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค MERS และ "อาจจะ" ระบาดสู่มนุษย์ได้ รวมถึง "อาจจะ" มีความรุนแรงมากกว่าโควิด-19 ถึง 3 เท่า

ที่มาของข่าว NeoCoV

โดยที่มาของรายงานหลัก เป็นการรายงานการพบเชื้อที่มีใกล้เคียงกับเชื้อ MERS-CoV ในค้างคาว ที่พบในทวีปแอฟริกา ชื่อว่า "NeoCoV" ซึ่งโดยปรกติแล้ว เชื้อไวรัสโคโรน่า จะใช้โปรตีน DPP4 ในการจับตัวกับโปรตีนของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับเชื้อ แต่ NeoCoV ที่พบนี้ ไม่ได้ใช้โปรตีน DPP4 เหมือนปรกติในการจับกับโปรตีนของสิ่งมีชีวิตอื่น มันสามารถใช้โปรตีน Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ในค้างคาว และทำให้ติดเชื้อในค้างคาวได้ดี ซึ่งการที่หนามโปรตีนของไวรัส จับตัวกับโปรตีน ACE2 นั้นมีความคล้ายคลึงกับลักษณะของ เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

หรือหากอธิบายเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่าย เหมือนกับการที่เราไขกุญแจบ้าน ก็จะต้องประกอบไปด้วย ลูกกุญแจ กับ แม่กุญแจที่ลูกบิดประตู โปรตีนหนาม หรือ Spike โปรตีนหนามของเชื้อไวรัสทำหน้าที่เหมือนลูกกุญแจ ส่วนโปรตีนที่อยู่ในร่างกายเรา ก็เหมือนกับแม่กุญแจที่ประตู ดังนั้นกุญแจ และแม่กุญแจ ก็จะต้องตรงกัน แต่หากไม่ตรงกัน ก็จะไขไม่ได้ แม้ว่าจะเสียบกุญแจได้ แต่หากยังไขไม่ได้ นั่นก็หมายถึงโอกาสติดเชื้อยังไม่มี

ทีนี้ เจ้าเชื้อ NeoCoV นั้นพบว่า มีการปรับเปลี่ยนโปรตีนหนาม ที่มีความสามารถ "อาจจะเข้ากันได้" โปรตีน ACE2 ในคนเราได้ คล้ายกับเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019

การติดโควิด-19 เกิดจากเชื้อ SARS CoV 2 หรือเชื้อโควิด-19 จับกับโปรตีน ACE2 ขอมนุษย์ได้
(ภาพ - Chakravarty, D., Nair, S.S., Hammouda, N. et al.)

ทำไมเราถึงยังไม่ควรวิตกกับเชื้อนี้ ?

จากรายงานที่ระบุในขณะนี้ พบเพียงว่า เชื้อ NeoCoV มีการกลายพันธุ์และสามารถจับกับโปรตีน ACE 2 ได้ จากรายงานฉบับนี้ระบุว่า เชื้อสามารถติดได้ดีในเซลล์ของค้างคาว แต่ยังไม่เคยมีการติดเชื้อในคนมาก่อน ดังนั้นหากจะสามารถติดเชื้อในคนได้นั้น เชื้อ NeoCoV นี้เปลี่ยนแปลงโปรตีนหนาม ในตำแหน่ง T510F แบบเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ เชื้อโรคโควิด-19 นั่นเอง

อธิบายอย่างง่ายคือ การกลายพันธุ์ของเชื้อ NeoCoV ที่พบจากรายงานนี้ พบว่า มันแค่สามารถเสียบแม่กุญแจได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า มันไขกุญแจ นำไปสู่การระบาดเชื้อในคนได้

เชื้อ NeoCoV

ดังนั้นในข้อเท็จจริงที่พบในขณะนี้ จึงเป็นเพียงการพบรายงาน "ความเป็นไปได้" ในการจับโปรตีนในมนุษย์ได้เท่านั้น แต่ยังไม่มีรายงานระบุ หรือยืนยันชัดเจนว่า มีการติดเชื้อเกิดขึ้น

ทำไมถึงมีรายงานว่า NeoCoV อาจจะเสียชีวิตได้มากถึง 3 เท่า ?

ในข้อเท็จจริงนั้น เป็นการเปรียบเทียบเชื้อระหว่างเชื้อโรค MERS กับ เชื้อ SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ มีความคล้ายคลึงกับเชื้อโรค SARS ในขณะที่เชื้อ NeoCoV ที่รายงานนี้ มีความคล้ายคลึงกับเชื้อโรค MERS มากกว่า

และเชื้อโรค SARS นั้น มีอันตราการตายน้อยกว่า MERS ราว 3 เท่าตัว ดังนั้นการเปรียบเทียบที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียง "การคาดการณ์" ผ่านการเทียบในลักษณะของการเทียบ "บัญญัติไตรยางค์" ตรง ๆ เท่านั้น แต่ยังไม่มีรายงานอัตราการตายที่แท้จริง เพราะยังไม่พบการระบาดในมนุษย์นั่นเอง

เป็นไปได้ไหมที่จะติดในมนุษย์ ?

จากรายงานที่มีในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนถึงการติดเชื้อ NeoCoV นี้มีรายงานการพบครั้งแรกในซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี 2012 หรือ 10 ปีก่อน ดังนั้น NeoCoV จึง "ไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ" มันเป็นเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับที่มีรายงานการพบก่อนหน้านี้ เหมือน เชื้อไวรัสโคโรน่า ที่มีหลายสายพันธุ์ เช่นที่เรารู้จักกันคือ

  • เชื้อไวรัสโคโรน่า - เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส
  • เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 - เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค MERS
  • เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 - เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ในกลุ่มเชื้อไวรัสโคโรน่า ยังมีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ ได้อีก

  • Canine coronavirus ที่พบในสุนัข
  • Feline coronavirus ที่พบในแมว

ซึ่งมีไวรัสโคโรนานั้น เป็นเชื้อที่เป็นที่รู้จักมานานกว่า 80 ปีแล้ว และทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ แต่ส่วนใหญ่จะพบในสัตว์ และมีความจำเพาะ เช่น ไวรัสโคโรนา bat-SL-CoVZC45 และ bat-SL-CoVZXC21 ที่จะพบเฉพาะในค้างคาว

และมี 7 ชนิดที่มีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ คือ

  1. ไวรัสโคโรนามนุษย์ 229E (HCoV-229E)
  2. ไวรัสโคโรนามนุษย์ NL63 (HCoV-NL63)
  3. ไวรัสโคโรนามนุษย์ OC43 (HCoV-OC43)
  4. ไวรัสโคโรนามนุษย์ HKU1 (HCoV-HKU1)
  5. Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus (SARS-CoV)
  6. Middle East Respiratory Syndrome (MERS-CoV)
  7. Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 (SARS-CoV-2)

โดยที่ 4 ตัวแรกนั้น เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิด "ไข้หวัดธรรมดา" และมีอาการไม่รุนแรง ส่วนอีก 3 ตัวที่เหลือนั้นมีความรุนแรงที่มากกว่า

ดังนั้นในขณะนี้ การติดเชื้อของ NeoCoV ในมนุษย์นั้น ยังคงไม่มีรายงานยืนยันการติดเชื้อที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า จะกลายพันธุ์และนำไปสู่การติดเชื้อได้หรือไม่ หรือมีความรุนแรงมากแค่ไหน

สรุปสุดท้ายต้องทำอย่างไร

ในขณะนี้ จึงเป็นเพียงการรับรู้ เข้าใจและติดตามรายงานเพิ่มเติม และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตื่นตระหนก จนก่อให้เกิดความกังวลอื่นใด ที่จะมีการระบาดใหญ่ หรือก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรง


ที่มา

  • https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.01.24.477490v1.full
  • https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana
  • https://www.nsm.or.th/other-service/664-online-science/knowledge-inventory/sci-article/sci-article-science-museum/4580-coronaviruses.html

RELATED