ประเด็นน่าสนใจ
- ยอดสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงมหกรรมช้อปปิ้งประจำปีของจีน พุ่งสูงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา
- เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของจีน มียอดขายพุ่งสูงขึ้นมาในช่วงวันคนโสดที่ผ่านมา
- แนวโน้มเศรษฐกิจของจีนที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั่นเอง และแนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ มุ่งสู่ออนไลน์ มีความหลากหลาย และกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น
อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ ระบุว่ายอดขายในแพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. หรือวันคนโสด พุ่งแตะ 2.68 แสนล้านหยวน (ราว 1.15 ล้านล้านบาท) โตราวร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนจิงตง หรือ เจดีด็อทคอม (JD.com) โกยรายได้ถึง 2.04 แสนล้านหยวน (ราว 8.77 แสนล้านบาท) ตั้งแต่วันที่ 1-11 พ.ย. ขณะที่ปริมาณการสั่งซื้อของเว็บไซต์ซูหนิง (Suning) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 76 เมื่อเทียบเป็นรายปี
ชุมชนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในเทศกาลช้อปปิ้งประจำปีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตลาดจึงขยายไปสู่กลุ่มอายุผู้ซื้อที่แตกต่าง และนักช้อปในเมืองหลากหลายระดับยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากทีมอลล์ (Tmall) เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ในเครืออาลีบาบา เปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้บริโภคซื้อของผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักของอาลีบาบามากกว่า 500 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 100 ล้านคนจากปี 2018
ในจำนวนข้างต้น ผู้บริโภคที่เกิดหลังปี 1995 มีสัดส่วนราวร้อยละ 30 ขณะที่สัดส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบปีต่อปี ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตสูงสุด
ส่วนเว็บไซต์ JD.com ระบุว่า ยอดการทำธุรกรรมต่อหัวของลูกค้าในเมืองเทียร์สามและเทียร์ต่ำกว่า เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 130 ในช่วงวันที่ 1-11 พ.ย. โดยมียอดสั่งซื้อจากผู้ซื้อกลุ่มดังกล่าวในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดสั่งซื้อทั้งหมด
การเติบโตของจำนวนผู้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผงาดขึ้นมาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในสังคมออนไลน์ ซึ่งต่างเสนอเงินอุดหนุนหรือส่วนลดเพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้รายใหม่และการซื้อแบบกลุ่ม
“การซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นคนเมืองหรือคนชนบท” จางหย่ง ประธานกรรมการบริหารอาลีบาบา กล่าวในการประชุม “สำรวจจีน” (Observing China) ที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่
นอกเหนือจากผู้บริโภคชาวจีนจะมีกำลังซื้อที่เติบโตขึ้นแล้ว ความต้องการการบริโภคก็มีความหลากหลายมากขึ้น ในแง่ของการเลือกแบรนด์และหมวดหมู่
มีแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลกมากกว่า 200,000 แบรนด์ ตบเท้าเข้าร่วมงานเทศกาลบนเว็บไซต์ทีมอลล์ (Tmall) ในครั้งนี้ จางกล่าวว่าในบรรดาแบรนด์กว่า 299 แบรนด์ที่มียอดขายทะลุ 100 ล้านหยวน (ราว 430 ล้านบาท) ในวันคนโสด มีผู้เล่นหน้าใหม่อยู่หลายสิบแบรนด์ด้วยกัน
ขณะที่แบรนด์ต่างประเทศขนาดใหญ่ยังคงกอบโกยรายได้จำนวนมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง แต่แบรนด์ในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะแบรนด์สมาร์ตโฟนและเครื่องแต่งกาย ครองใจลูกค้าได้ในจำนวนมากกว่า
นอกจากนี้ การจับจ่ายไปกับบริการต่างๆ ของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นด้วย การดูแลความงามแบบจัดส่งถึงหน้าบ้าน การบำรุงรักษาสินค้าฟุ่มเฟือย และบริการอื่นๆ ต่างเป็นที่นิยมในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในช่วงเวลานี้
หลิวเฉียว คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจกวงหัว แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง คาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ปริมาณการใช้บริการจะครองสัดส่วนที่ราวร้อยละ 60 หรือมากกว่านั้น ในปริมาณการบริโภคทั้งหมดของจีน
แมนนี มาเซดา (Manny Maceda) หุ้นส่วนด้านการจัดการในทั่วโลก ของบริษัทเบน แอนด์ คอมปะนี (Bain & Company) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก กล่าวว่า เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการและพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไป แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต ควรคิดค้นนวัตกรรมการผลิตและการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน
เกาหงปิง ประธานอาลีรีเสิร์ช (AliResearch) ชี้ว่าการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) เป็นวิธีที่ทำให้สามารถเข้าใจผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง และยังทำให้พัฒนาสินค้าและบริการที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ ตลอดจนช่วยจัดการกับคำสั่งซื้อจำนวนมาก และเป็ฯการรับประกันการจัดส่งที่รวดเร็ว รวมถึงบริการหลังการขายอื่น ๆ
พีซเบิร์ด (PEACEBIRD) แบรนด์แฟชั่นในประเทศ มียอดขายพุ่งทะลุ 900 ล้านหยวน (ราว 3800 ล้านบาท) ในวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา เพราะแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า (Big Data) ที่สามารถติดตามการสั่งซื้อและรายการสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงใช้กลยุทธ์การค้าปลีกที่ผสานทั้งออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน
นอกเหนือจากเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัล (DT) จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อความสำเร็จของกิจการต่างๆ ในอนาคต
รายงานล่าสุดโดยไอดีซี (IDC) บริษัทแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด และอินสเปอร์ (Inspur) บริษัทไอทีของจีน เปิดเผยว่ารายจ่ายของบริษัทต่างๆ ของจีน ที่ใช้ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ในปีนี้ ขยายเกินเพดานที่กำหนด โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด