ECOLife app นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นุ่น-ศิรพันธ์ อีโค่

แม่บ้านอีโค่ กับชีวิตรักที่ลงตัว นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

เคยคิดกันเล่นๆ ไหมว่า ถ้าวันหนึ่งต้องปรับตัวให้ชีวิตประจำวัน ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะอยู่กันได้ไหม? แต่ผู้หญิงคนนี้ นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ทำให้เราเห็นแล้วว่า ชีวิตและบทบาทแม่บ้านอีโค่นั้น สนุกและมีความสุขยังไงบ้าง ทำไม นุ่น ศิรพันธ์…

Home / แฟชั่น / แม่บ้านอีโค่ กับชีวิตรักที่ลงตัว นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

เคยคิดกันเล่นๆ ไหมว่า ถ้าวันหนึ่งต้องปรับตัวให้ชีวิตประจำวัน ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะอยู่กันได้ไหม? แต่ผู้หญิงคนนี้ นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ทำให้เราเห็นแล้วว่า ชีวิตและบทบาทแม่บ้านอีโค่นั้น สนุกและมีความสุขยังไงบ้าง

ทำไม นุ่น ศิรพันธ์ ซื้อเสื้อผ้า OTop มากกว่าเดินซื้อในห้าง

10 กว่าปีที่อีโค่ 

สารภาพก่อนว่าไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่แรก แต่มันเริ่มมาจากผู้ชายก่อนค่ะ พอดีพี่ท้อปไปเจอหนังเรื่องนึงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้า แล้วชอบมาก เลยศึกษาจริงจัง ตัวเราเองก็คลุกคลีอยู่ด้วย ศึกษาข้อมูล เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา สมัยก่อนถ้าพูดถึงเรื่องรักษ์โลก เราจะนึกเป็นภาพลักษณ์สวยหรู มีความเป็นมาร์เก็ตติ้งเบาๆ แต่พอศึกษาจริงจัง ถึงได้รู้ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และทุกวันนี้ก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าธรรมชาติกำลังสื่อสารอะไรกับเราอยู่ตลอด

ดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมือนดูแลบ้าน

นุ่นเปลี่ยนวิธีคิด จากเมื่อก่อนไม่เคยคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เอาตรงๆ คือคิดแค่ว่าเราไม่เคยไปตัดไม้ทำลายป่า นี่ก็ว่าเราเป็นคนดีแล้วไง แต่จริงๆ สิ่งแวดล้อมคือบ้าน คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา โลกใบนี้เราเป็นแค่ผู้อยู่อาศัย เหมือนตอนนี้เราเป็นขโมย นึกอยากได้ก็หยิบมาใช้ โดยไม่ได้ทำอะไรตอบแทนบุญคุณเขากลับเลย ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้ดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมือนดูแลบ้านตัวเอง เพราะคงไม่มีใครอยากอยู่บ้านที่สกปรกหรอกค่ะ

บาลานซ์ความอีโค่ ให้เหมาะสม 

เราก็เป็นมนุษย์อีโค่ที่มีกิเลส ทุกอย่างที่เราใช้เสริมสวย แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่เลย เราก็จะพยายามลดละ อย่างตอนทำสีผม เมื่อก่อนนุ่นทำสีผมบ่อยมาก แต่ตอนนี้ก็เหลือทำสีเฉพาะเวลามีงานละคร แล้วก็ศึกษาข้อมูลไปเรื่อยๆ ว่ามีอะไรมาทดแทนได้บ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้มันมีใบชาที่สามารถนำมาย้อมสีผมได้

ลองกลับไปบ้าน ดูที่โต๊ะเครื่องแป้ง ดูที่ห้องน้ำ เราจะเห็นเลยว่าทุกอย่างคือพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง แชมพู ครีมอาบน้ำ แต่ก่อนนุ่นก็เป็นเหมือนผู้หญิงทั่วไปเลยค่ะ เห็นอายแชโดว์ เห็นลิปสติก ก็อยากจะได้ ทั้งๆ ที่ก็มีเต็มบ้านแล้ว แต่ก็อดใจไม่ไหว ของมันต้องมีเนอะ แต่เดี๋ยวนี้พอเราเปลี่ยนความคิด เกิดความยับยั้งชั่งใจ มาทบทวนดูว่าจริงๆ แล้วใช้ในปริมาณต่อครั้งนิดเดียวเองนะ ใช้จนจะหมดอายุแล้วบางทียังไม่เป็นหลุมเลย พยายามใช้ให้หมด หรือเลือกครีมที่แพคเกจจิ้งเป็นแก้ว ซึ่งเขาจะบอกข้างกล่องเลยว่า ECO Friendly คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จัดงานแต่งแบบอีโค่ ให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องน่ารัก

ตอนแรกอยากสุดโต่งกว่านี้อีก อยากแต่ง Outdoor เพราะจะได้ไม่ต้องเปิดแอร์ เปลืองไฟ แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่ในโลกความเป็นจริง เลยปรับให้สมดุลกับคนรอบข้าง เลือกโรงแรมที่ติดรถไฟฟ้า แขกจะได้เดินทางสะดวก ไม่ต้องขับรถให้มีมลพิษ เค้กก็ไม่ต้องมี เพราะเรารู้ว่าเค้ก 7 ชั้นในโรงแรมมันจะมีของโฟมปนอยู่ มีเค้กจริงๆ อยู่ไม่กี่ชั้น ส่วนดอกไม้ ไหนๆ ก็จะต้องมีการขนส่ง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากรถแล้ว ก็อยากให้คุ้มมากที่สุด เลยเลือกแบบเป็นกระถาง ให้แขกในงานเอากลับไปปลูกที่บ้านได้ต่อ ทุกวันนี้พอเราเจอหน้าใคร ก็มักจะเข้ามาบอกเราว่าต้นไม้ที่เอาไปปลูกยังอยู่นะ หรือต้นกล้วยที่ใช้แห่ขันหมาก นุ่นก็เอามาปลูกต่อ ได้กินกล้วยล็อตที่ 2 แล้วค่ะ คือนุ่นว่าสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องที่น่ารัก

ชีวิตรักที่ลงตัว 

โชคดีที่เลือกคู่ชีวิตที่มีทัศนคติคล้ายกัน ใช้ชีวิตคล้ายกัน เลยแฮปปี้ นุ่นเป็นคนขี้ลืม บางทีลืมกระบอกน้ำ พี่ท้อปก็จะคอยเตือนนุ่นอยู่เรื่อยๆ ว่านุ่นอย่าลืมนะ แล้วก็กรอกน้ำมาให้ หรือเวลาที่ไปซื้อของเข้าบ้านกัน พี่ท้อปจะมีความเป็นพ่อบ้านสูงมาก นี่แอบเม้าท์สามีหน่อยนะ (หัวเราะ) พยายามเลือกที่มีโปรโมชั่น อย่าง 1 แถม 1 นี่ชอบมาก ส่วนนึงคือเรื่องประหยัดเงิน แต่ที่โฟกัสคือเวลาที่ซื้อของในปริมาณมากแบบนี้ เราจะประหยัดพลาสติกที่นำมาทำแพ็คเกจได้เยอะ ถ้าเราซื้อแยกทีละชิ้น ขยะพลาสติกก็จะยิ่งเพิ่ม หรือสบู่อาบน้ำ ก็จะซื้อแบบชนิดเติม เพราะขวดที่บ้านเรามีอยู่แล้ว

แพลนในอนาคต ให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยั่งยืน 

เป็นสิ่งที่ท้าทายมากนะ เราตัวเล็กๆ ไม่มีพลังที่จะส่งผลกระทบอะไรในวงกว้างขนาดนั้น แต่โชคดีมากที่ปีนี้ (2018) หลายคนหันมาตระหนักมากขึ้น อย่างโครงการของ เซนทรัลทำ และอีกหลายๆ โครงการของบริษัทอื่นๆ ที่ตอนนี้เรามารวมใจกัน เราตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดในอนาคตร่วมกัน

เราย้ำกันเสมอมาว่าแค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียวยังไม่พอ คนในชุมชนและสังคม ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ที่จะตระหนักร่วมกันด้วย ทุกอย่างต้องควบคู่กันไป เราเองก็ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ไม่ใช่แค่รณรงค์ให้รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ต้องสามารถสร้างรายได้ให้กับเขาด้วย ให้เขาเห็นว่าเขามีเงินได้นะ โดยไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งแวดล้อม

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : Women MThai Team