ต้นแบบ “สวนองุ่น” เกษตรกรพลิกพื้นที่ดินเค็ม ปลูกองุ่นสำเร็จรายแรกในตรัง

ต้นแบบ “สวนองุ่น” เกษตรกรพลิกพื้นที่ดินเค็ม ปลูกองุ่นสำเร็จรายแรกในตรัง เผย หันมาปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 วันที่ 11 มิถุนายน 2560 นางสาวทัศนีย์ สระแก้ว อายุ 43…

Home / NEWS / ต้นแบบ “สวนองุ่น” เกษตรกรพลิกพื้นที่ดินเค็ม ปลูกองุ่นสำเร็จรายแรกในตรัง

ต้นแบบ “สวนองุ่น” เกษตรกรพลิกพื้นที่ดินเค็ม ปลูกองุ่นสำเร็จรายแรกในตรัง เผย หันมาปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9

วันที่ 11 มิถุนายน 2560 นางสาวทัศนีย์ สระแก้ว อายุ 43 ปีเกษตรกรหมู่ที่ 2 บ้านหยงสตาร์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ใช้ที่ดินซึ่งเคยเป็นนาร้างและป่าจาก และมีน้ำทะเลท่วมถึงบนเนื้อที่จำนวน 15 ไร่ หันมาปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูกตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มลงทุนถมดินให้สูงพ้นจากระดับน้ำทะเล และนำดินเค็มในสวนมาผสมกับดินทั่วไป ปลูกมะม่วง มะนาวในท่อซีเมนต์ ปลูกพริกขี้หนูในกระสอบ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ เลี้ยงปลาและอื่นๆ

โดยเฉพาะองุ่น 4 สายพันธุ์ได้แก่ แบล็คโอปอ, ป๊อกดำ, แฟลม และรูทพาเรท ซึ่งมีทั้งองุ่นดำ องุ่นแดง, องุ่นขาวแบบมีเมล็ด และไม่มีเมล็ดจำนวน 28 ต้น รวม 3 โรงเรือน ซึ่งปลูกไปได้ประมาณ 2 เดือน องุ่นเริ่มให้ผลและอีกประมาณ 2 เดือนก็จะสุก โดยเตรียมขยายโรงเรือนปลูกเพิ่มอีก 2 โรง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ ให้สามารถปรับดินเค็มมาปลูกองุ่นและพืชผักหลากชนิดได้ เพื่อลบความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าพื้นที่อยู่ติดกับน้ำทะเลไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้

ทั้งนี้ หลังจากส่วนที่นำมาบริโภคเหลือตนจะนำออกไปจำหน่าย ประกอบกับเป็นคนที่ชอบทางด้านการเกษตรแต่ต้องทำงานอยู่กรุงเทพฯ 2-3 เดือน จึงจะกลับไปเยี่ยมบ้านที่ จ.ตรัง เมื่อกลับมาแล้วก็อยากจะเห็นสีเขียวขจีของพืชผักในฝันของตน จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเนรมิตพื้นที่ทางการเกษตรขึ้นมาบนพื้นที่ดินเค็ม

ซึ่งปัจจุบันสามารถเก็บพริกสดและยอดมะม่วงหิมพานต์ขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และมอบหมายให้พี่ชายเป็นคนคนดูแลทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ และเป็นต้นแบบในการพลิกพื้นที่น้ำกร่อย ดินเค็มให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้ผลผลิตเทียบเท่ากับพื้นที่ทางการเกษตรอื่นๆ พร้อมเปิดตัวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในตำบลท่าข้าม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่อีกแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง