ประเด็นสำคัญ
- จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับ พบว่า สัตว์ในกลุ่มหมึก กุ้ง ปู กั้ง มีความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ มากกว่าที่เราคิด
- สหราชอาณาจักร จึงได้มีการยกร่างกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่ โดยรวมถึงหมึก กุ้ง ปู กั้งเหล่านี้ไปด้วย
- ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่า แม้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นอาหาร แต่ก็ไม่ควรถูกทารุณเช่นการทำอาหารทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่
- ฝ่ายคัดค้านระบุว่า เราจำเป็นต้องรู้ไหมว่า หมึกกำลังกลัวอยู่ไหม? ผึ้งกับลังมีความสุขหรือเปล่า หรือไส้เดือนกำลังเครียด?
- อย่างไรก็ตาม ร่างกฏหมายฉบับนี้ผ่านสภาสูง เข้าสู่สภาล่างของสหราชอาณาจักรแล้ว และหากผ่านวาระ 3 ก็จะเข้าสู่กระบวนการลงมติ และทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย บังคับใช้ในสหราชอาณาจักรต่อไป
…
ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับระบุตรงกันว่า หมึก เป็นสัตว์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นอย่าง กุ้ง และปู อีกด้วย นั่นทำให้สหราชอาณาจักรมีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพฉบับใหม่ ครอบคลุมถึงหมึก กุ้ง และปู ในการที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง แม้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารในชีวิตประจำวันก็ตาม แต่พวกมันก็ไม่ควรถูกทารุณในขณะปรุงเป็นอาหารด้วยการต้มในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ประกาศยอมรับ หมึก กุ้ง ปู มีความรู้สึก
ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า สิ่งมีชีวิตอย่าง หมึก กุ้ง และปู เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกต่าง ๆ ได้ หลังจากรายงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนหลายฉบับที่ระบุตรงกันว่า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้ มีความรู้สึก และตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางร่างกายที่เกิดขึ้นได้
รัฐบาลสหราชอาณาจักร จึงได้พิจารณาแล้วว่า ร่างกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ที่มีความรู้สึกในฉบับเดิมนั้น ครอบคลุมเฉพาะสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก แต่ไม่ได้ควบรวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ ที่มีระบบประสาทที่ซับซ้อนเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้ว ว่า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างกลุ่มหมึก กุ้ง และปู เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกเจ็บปวดได้ไม่ต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ ดังนั้น พวกมันจึงควรได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมเช่นกัน

…
นักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไร?
ในความรู้สึกตามปรกติของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง จะมีการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรง เช่น ความสุข ความเจ็บปวด ความกลัว ความหิว ฯลฯ แม้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะไม่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้หรือตอบสนองในแบบเดียวกับมนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีวีธีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ และสะท้อนถึงอารมณ์-ความรู้สึกของมันได้
นักวิทยาศาสตร์ตั้งเกณฑ์ในการวิจัยและสังเกตจากพฤติกรรมการตอบสนองของสัตว์เหล่านั้น เช่น
- เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเจ็บปวด สัตว์เหล่านั้นรู้จักหลบหลีกได้หรือไม่
- เมื่อมีการให้ยาชาหรือยาแก้ปวด แล้วสัตว์เหล่านั้นตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นแตกต่างไปหรือไม่
- มีการเรียนรู้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่เคยได้รับ หรือพบ หรือสัมผัสมาก่อนหรือไม่
- รู้จักการต่อสู้ ตอบโต้ หรือ หลบหนีจากสิ่งคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือ เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่
ดังนั้นในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ หลายอย่างจึงเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งสัตว์ในกลุ่มของกุ้ง หมึก มีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่า สิ่งมีชีวิตในตระกูลเซฟาโลพอด (Cephalopod) เช่น หมึกต่าง ๆ และหอยโข่ง และสัตว์ในตระกูลเดคาพอด (Decapods) อย่างกุ้ง กั้ง ปู มีความรู้สึก สามารถเรียนรู้ จดจำในสิ่งที่เกิดขึ้น และเลือกตอบสนองกับสิ่งเหล่านั้นได้เช่นเดียวกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะในกลุ่มของหมึก ที่มีการตอบสนองต่อสิ่งที่เรียนรู้ – ความรู้สึกได้มากกว่ากุ้ง หรือ กั้ง
สัตว์เหล่านี้จึงควรได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ และแม้ว่ามันเป็นอาหาร ก็ควรได้รับการฆ่าโดยอย่างมีมนุษยธรรม แทนการต้มแบบที่มันยังมีชีวิตอยู่

…
ร่างกฏหมายฉบับใหม่
ในเดือน พ.ค. 2564 ได้มีการเสนอร่างให้มีการแก้ไขกฏหมายฉบับนี้เป็นครั้งแรกในสภาขุนนาง (House of Lords) หรือ สภาสูงในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ก่อนที่รับการพิจารณาและผ่านว่าวาระที่ 1-2-3 รวมถึงผ่านคณะกรรมาธิการเป็นที่เรียบร้อบ เข้าสู่ขั้นของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ และมีการเสนอเข้าสู่สภาสามัญชนสหราชอาณาจักร (House of Commons) หรือสภาล่างของอังกฤษ มีการพิจารณาผ่านในวาระที่ 1-2 รวมถึงชั้นกรรมาธิการฯ แล้วเข้าสู่วาระของอภิปรายเพื่อแปรญัตติในข้อความบางส่วนของกฎหมาย ก่อนที่จะเข้าสู้ขั้นสุดท้าย ในวาระที่ 3 ในการอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้

ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของสภาล่างในครั้งที่ 3 นี้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ ในการพิจารณาข้อกฎหมายของสภาล่างและสภาสูงของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง และถ้าทั้งสองสภาเห็นชอบ ก็จะมีการทูลเกล้าฯเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบ และประกาศบังคับใช้เป็นกฏหมายต่อไป
ใช่ว่าไร้เสียงค้าน
ในการพิจารณาข้อกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ฉบับใหม่นี้ไม่ต่างจากข้อกฏหมายทั่วไปที่ยังคงมีผู้คัดค้านการเสนอร่างฉบับนี้ โดยระบุข้อกังวลต่อการยกร่างข้อกฎหมายว่า จะกระทบต่อการวิจัยทางการแพทย์ ที่ยังคงมีการนำสัตว์ต่าง ๆ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้า ศึกษาวิจัยต่าง ๆ ด้วย รวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ที่จะต้องนำเข้ามาพิจารณา โดยฝ่ายคัดค้านมองว่า
“เราจำเป็นต้องเข้าใจหรือไม่ว่า ปลาหมึกกำลังเศร้าอยู่ไหม? ผึ้งกำลังมีความสุขอยู่หรือเปล่า? หรือ ไส้เดือนกำลังเครียดอยู่?”
ซึ่งฝ่ายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ระบุว่า สิ่งที่จำเป็นคือพื้นฐานของข้อกฎหมายที่ปกป้องสิทธิ์ของสิ่งมีชีวิตโดยคำนึงถึงความเจ็บปวด ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเท่านั้น ซึ่งสัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ ก็ควรจะได้ความเห็นอกเห็นใจมากกว่าความเห็นแก่ตัว เช่นเดียวกับที่มนุษย์พยายามปกป้องสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น วัว ไก่ สุนัข และแมว

(ภาพ – Carolina Sánchez)
จะเกิดอะไรขึ้นหากกฏหมายมีผล
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านแต่ร่างฉบับนี้ ก็ผ่านสภาสูง สู่สภาล่างแล้ว และคาดว่าอีกไม่นาน กฎหมายฉบับนี้ ก็น่าจะผ่านสภา นำไปสู่การประกาศบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งผลจากกฎหมายที่เกิดขึ้นก็คาดว่า การทำอาหารในรูปแบบเดิมเช่น การต้มกุ้ง ปู ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือการหั่นหมึกที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น จะกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายนั่นเอง
เมนูในบ้านเราอย่าง หมึกช็อต – กุ้งเต้น หากนำไปทำขายบนเกาะอังกฤษก็ถือว่า ผิดกฎหมายฉบับนี้
ข้อมูล :
- https://www.gov.uk/government/news/lobsters-octopus-and-crabs-recognised-as-sentient-beings
- https://bills.parliament.uk/bills/2867/publications
- https://www.lse.ac.uk/News/News-Assets/PDFs/2021/Sentience-in-Cephalopod-Molluscs-and-Decapod-Crustaceans-Final-Report-November-2021.pdf
- https://www.eurogroupforanimals.org/files/eurogroupforanimals/2021-12/2021_12_03_efa_pp_Decapod%20crustaceans%20and%20cephalopod%20molluscs.pdf
- https://www.parliament.uk/business/news/2022/january-2022/have-your-say-on-the-animal-welfare-sentience-hl-bill/
แท็ก: TELL