ดานอนผนึกภาครัฐ ภาคีเครือข่าย และสถาบันการศึกษา เดินหน้าโครงการบันยัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแม่และเด็กเพื่อพัฒนาการ 1000 วันแรกแห่งชีวิต

ดานอนสานต่อโครงการบันยัน ผ่านการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตราฐาน ควบคู่กับการจัดตั้งมูลนิธิพันวันแรก

Home / PR NEWS / ดานอนผนึกภาครัฐ ภาคีเครือข่าย และสถาบันการศึกษา เดินหน้าโครงการบันยัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแม่และเด็กเพื่อพัฒนาการ 1000 วันแรกแห่งชีวิต

บริษัท ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อ โครงการบันยัน (Banyan Project) ผ่านการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตราฐาน (Day Care Center) ควบคู่กับการจัดตั้ง มูลนิธิพันวันแรก (FIRST 1000 DAYS FOUNDATION) เดินหน้าสนับสนุนคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น มุ่งสร้างพัฒนาการเด็กรุ่นใหม่ให้เต็มศักยภาพผ่านโภชนาการที่ดี การพัฒนาการแบบองค์รวมและการเสริมสร้างศักยภาพของแม่ในการดูแลลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สหทัยมูลนิธิ Danone Ecosystem Fund สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น ย้ำผ่าน 5 ปี. บันยันช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแม่และเด็กผ่านโครงการกว่า 150 คน

นายเดนิช ราห์มัน ผู้จัดการสูงสุดประจำประเทศไทย ประเทศลาว และผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหน่วยธุรกิจโภชนาการเพื่อความต้องการพิเศษ บริษัท ดานอน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการบันยันว่า การจัดตั้งมูลนิธิพันวันแรก ( FIRST 1000 DAY FOUNDATION) เป็นพันธกิจหลักของมูลนิธิพันวันแรก คือการเผยแพร่ข่าวสารวิชาการและสานต่องานของโครงการบันยันในเรื่องของ 1000 วันแรก และการระดมทุนในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุข และช่วยเหลือกลุ่มแม่ผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงการดูแลบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีพัฒนาการสมวัย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้สนับสนุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาการเด็กเล็ก

“บริษัทดานอนให้ความสำคัญกับ 1,000 วันแรกของชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมและการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ซึ่ง Banyan Day Care Model โดยบริษัทดานอนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กต้นแบบแห่งเดียวในประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นจากรากฐานของ 1,000 วันแรกของชีวิต เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกจังหวัดในประเทศจะนำแนวทางนี้มาปรับใช้ในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้คุณภาพในที่สุด การระดมสรรพกำลังทั้งระดับประเทศและชุมชนท้องถิ่นเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี”

สำหรับ โครงการบันยัน ดำเนินการภายใต้สองกิจกรรมหลักคือ
• การจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้คุณภาพ (Day Care Model Center)
เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาระบบการจัดการสถานรับเลี้ยงเด็กแรกเกิดที่มีประสิทธิภาพ บริษัทดานอน และ Danone Ecosystem Fund จึงจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุขขึ้นสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี เพื่อครอบครัวรายได้น้อยหรือด้อยโอกาสทางสังคมให้สามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ ความรู้ด้านโภชนาการและพัฒนาการของเด็กที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นคุณแม่ผู้มีรายได้น้อย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือสตรีที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

สถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุข มีศูนย์ต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่

  • สถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุข จ. นครศรีธรรมราช โดยได้รับความร่วมมือจากสหทัยมูลนิธิและองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา จัดตั้งเป็น Day Care Model Center ซึ่งเป็นต้นแบบในบริบทสังคมชุมชนท้องถิ่น
  • สถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุข จ. สมุทรปราการ ได้รับความร่วมมือจากสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งเป็น Day Care Model Center ซึ่งเป็นต้นแบบในบริษัทสังคมเมือง

นอกจากนี้ โครงการบันยัน ยังได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้วิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ที่ได้เข้ามาจัดการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การดูแลโภชนาการและกระบวนการพัฒนาเด็กเล็กตามวัยให้แก่แม่และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็กต้นสุข รวมไปถึงการจัดทำรายงานประเมินผลลัพธ์ของโครงการ ผลกระทบทางสังคมในมิติต่าง ๆ และความสำคัญของการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กทั้งสองแห่ง

โครงการบันยันยังได้ตั้งเป้าจะสำเร็จโครงการในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 ระยะเวลารวมตลอดโครงการกว่า 5 ปีโดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนแม่และเด็กให้มีคุณภาพชีวิต โภชนาการที่ดี และมีพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วง 1000 วันแรกจำนวน 150 คนอีกด้วย