พม. กสศ. กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟ เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19

เชื่อมโยงข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ปูพรมพลัง อปท.และอาสาสมัคร ค้นหาและเข้าถึงเด็กกำพร้า  ไม่มีผู้ดูแล เด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ให้ได้รับการช่วยเหลือทันสถานการณ์ นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า 4 หน่วยงาน ได้แก่…

Home / PR NEWS / พม. กสศ. กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟ เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19

เชื่อมโยงข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ปูพรมพลัง อปท.และอาสาสมัคร ค้นหาและเข้าถึงเด็กกำพร้า  ไม่มีผู้ดูแล เด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ให้ได้รับการช่วยเหลือทันสถานการณ์

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และยูนิเซฟ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษา เด็กกำพร้าพ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบ เพื่อปกป้อง ช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ในทุกมิติปัญหา   

“เรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีเด็กได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก มียอดเด็กติดเชื้อสะสมระหว่าง 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2564 จำนวน 65,086 คน แบ่งเป็น กทม. 15,465 คน     ส่วนภูมิภาค 49,621 คน โดยจำนวนเด็กติดเชื้อรายวันล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 2,194 คน แบ่งเป็น กทม. 408 คน และส่วนภูมิภาค 1,786 คน  และยังมีเด็กไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ” 

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อบริการภาครัฐ  กสศ.จึงจับมือหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม เพื่อร่วมกันบริหารสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้เราเข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือและได้รับการดูแลที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด   

“เรามีกลไกอาสาสมัครคุณภาพของทั้ง 4 หน่วยงานและภาคประชาสังคม  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  อาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครครูทั้งในและนอกระบบ อาสาสมัครสภาเด็กและเยาวชน กทม. โดย กสศ.ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนทรัพยากรที่ยังขาดแคลนและจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ที่วิกฤต  และในระยะฟื้นฟู กสศ.จะสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา และโปรแกรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา จากการสูญเสียผู้ดูแลและเสาหลักครอบครัวเนื่องจากโควิด-19” 

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเด็กในหลายด้าน 1. กระทบกับเด็กคือเรื่องการเรียนที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์เหมือนถูกตัดออกจากครูและเพื่อนขาดโอกาสในการพัฒนาอีกทั้งในส่วนของเด็กเปราะบางหรือยากจนจะยิ่งเป็นปัญหาเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ทำให้ตามกลุ่มอื่นไม่ทันยิ่งทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  2. กระทบกับครอบครัวทำให้ตกงานเกิดสภาพยากจนเฉียบพลัน กลายเป็นความเครียดมาลงที่เด็กได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รัก และ 3. ผลกระทบเชิงสังคม เกิดความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด (Pandemic Stress) มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสังคมที่แสดงความโกรธเกรี้ยวเกิดเฮทสปีชที่จะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง

นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งเด็กกลุ่มเปราะบางกำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียผู้ดูแล 

“เราพร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ในการดำเนินงานเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือเด็กใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพจิตของเด็กด้วย มีผลการศึกษาจำนวนมากที่สะท้อนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการที่เด็กต้องถูกพรากจากครอบครัว หรือต้องอยู่ในการเลี้ยงดูทดแทนที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการดูแลในรูปแบบสถาบัน เราควรดำเนินการเพื่อให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด พร้อมกับส่งเสริมระบบให้เด็กที่ไม่มีผู้ดูแลได้รับการเลี้ยงดูทดแทนทั้งแบบชั่วคราวและระยะยาวที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก”

ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งกรณีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถประสานมาที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ที่สายด่วน 1300