The 2021 P4G Seoul Summit เกาหลีใต้

The 2021 P4G Seoul Summit การเข้าถึงผลประโยชน์อันล้ำค่าของความร่วมมือสีเขียว

การประชุมสุดยอด 2021 P4G Seoul Summit จะจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ในวันที่ 30-31 พฤษภาคมนี้

Home / PR NEWS / The 2021 P4G Seoul Summit การเข้าถึงผลประโยชน์อันล้ำค่าของความร่วมมือสีเขียว

ดร. เจน กูดอลล์ นักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์ ได้กล่าวคำพูดที่โด่งดังประโยคหนึ่งไว้ว่า “คุณไม่สามารถที่จะผ่านวันหนึ่งวันไปได้โดยไม่สร้างผลกระทบใดใดต่อโลกรอบตัวคุณ สิ่งที่คุณทำนั้นสร้างความแตกต่าง และคุณต้องตัดสินใจว่าความแตกต่างแบบไหนที่คุณอยากทำให้เกิดขึ้น”

ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังเผชิญกับ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ “New Normal” ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับความผิดปกติของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องของภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ไปจนถึงคลื่นความร้อนรุนแรงที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก การดำเนินการที่ชัดเจนในการลดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพภูมิอากาศและการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ได้

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อกล่าวถึงการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วนั้น แม้แต่ประเทศอย่างสหรัฐ อเมริกาและจีนที่เป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ต่างก็ยอมรับในแนวทางการจัดการที่คล้ายกัน ประเทศจีนซึ่งถือเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของโลก ได้ประกาศอย่างหนักแน่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 ส่วนสหรัฐฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก ได้ประกาศกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้งหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน การกลับเข้าร่วมในครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ความรวดเร็วและระดับของการดำเนินการของประชาคมระหว่างประเทศในการตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพียงครึ่งแรกของปี 2021 นี้ ได้มีการจัดการประชุมสุดยอดระดับพหุภาคีที่กล่าวถึงประเด็นสภาพภูมิอากาศไปแล้วถึงสองงานในประเทศเนเธอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา และจะมีการจัดงาน “2021 P4G Seoul Summit” ขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ในเดือนนี้

ข้อริเริ่ม P4G หรือ หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี 2030 เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ในฐานะเวทีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ประเทศหุ้นส่วนทั้ง 12 ประเทศ ซึ่งรวมถึง เกาหลีใต้ เดนมาร์ก อินโดนีเซีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ได้เข้าร่วมข้อริเริ่มนี้ร่วมกันกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม โดยที่ทุกฝ่ายมีเป้าหมายในการร่วมมือกันนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในห้าประเด็นหลัก ซึ่งครอบคลุมเรื่องของอาหารและการเกษตรกรรม น้ำ พลังงาน เมืองใหญ่ และเศรษฐกิจหมุนเวียน หุ้นส่วน P4G แตกต่างจากข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนอื่นๆ ในแง่ที่ P4G นั้นเกิดจากการขับเคลื่อนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ที่รวมตัวกันเพื่อนำเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ท้าทายต่างๆ ของโลก และสร้างโมเดลการทำธุรกิจผ่านการลงทุนแบบคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวก ซึ่ง P4G นั้นได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หุ้นส่วนทางนวัตกรรมมากกว่า 50 รายจากทั่วโลก

การประชุมสุดยอด 2021 P4G Seoul Summit ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ในวันที่ 30-31 พฤษภาคมนี้ เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เมื่อมีแรงกดดันเรียกร้องให้การฟื้นฟูต่างๆ จากโรคระบาดโควิด-19 มีความยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และในโอกาสที่ทุกประเทศจะเริ่มดำเนินการตามความตกลงปารีสในปีนี้ การประชุมสุดยอดที่จะจัดขึ้นจะช่วยยกระดับวาระการประชุมที่มุ่งเน้นด้านสภาพภูมิอากาศและเพิ่มการนำเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการฟื้นฟูสีเขียวที่ครอบคลุมในทุกด้าน ผู้นำจากกว่า 30 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าร่วมเพื่อแบ่งปันแนวคิดและข้อมูลเชิงลึกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมครั้งนี้ด้วย

การเข้าร่วม P4G Seoul Summit ของประเทศไทยนั้นมีความหมายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยและเกาหลีใต้มีเป้าหมายร่วมกันในการแสวงหาการเติบโตสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยให้การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาที่มีความสมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือรูปแบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในขณะที่เกาหลีใต้นั้นได้เริ่มใช้นโยบาย “Green New Deal” ในปี 2020 เพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีความเป็นกลางทางสภาพอากาศภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยแผนนโยบาย Green New Deal ให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนแปลงสีเขียวในโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นฟูระบบนิเวศ การจัดหาพลังงานคาร์บอนต่ำผ่านแหล่งพลังงานหมุนเวียนและการสัญจรสีเขียว การวิจัยและพัฒนา และการลงทุนเพื่อนวัตกรรมสีเขียว เกาหลีได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 12.3 ล้านตัน ภายในปี 2025 ผ่านโครงการต่างๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้แล้วประธานาธิบดีมุนแจอินได้ประกาศว่าเกาหลีใต้จะงดให้การสนับสนุนเงินของภาครัฐแก่โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในต่างประเทศ เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกอีกด้วย

โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับยุทธศาสตร์ Green New Deal มีความเหมือนกันในแง่ที่ทั้ง BCG และ Green New Deal ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า นวัตกรรมและความชัดเจนในการลงทุนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน ทำให้ไทยและเกาหลีใต้มีศักยภาพที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ อีกมากมาย เช่น การบริหารจัดการน้ำและขยะ พลังงานหมุนเวียน และการสัญจรสีเขียว เป็นต้น การนำความรู้ความสามารถที่สั่งสมจากประสบการณ์ในการดำเนินการด้านนโยบาย ผนวกกับความพยายามในการทำงานร่วมกันจะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ทั้งวิสัยทัศน์ที่จะเป็นโรงกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวแห่งเอเชียของเกาหลีใต้ และวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนของประเทศไทย

รัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการจัดการกับปัญหาปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้อีกต่อไป หุ้นส่วนความร่วมมือ P4G ได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนรวมถึงภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการดำเนินการตอบโต้สภาพภูมิอากาศ ภาคธุรกิจสามารถลดขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า และลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนร่วมมือกัน ช่วยกันขับเคลื่อนจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติจริง เราจะสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาโลกอันเป็นที่รักของเราไว้ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

• สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถดูตารางกิจกรรมและเข้ารับฟังการประชุม 2021 P4G Seoul Summit (30-31 พ.ค. 2564) และการประชุมอื่นๆ (24-29 พ.ค. 2564) ได้ผ่านทางเว็บไซต์ด้านล่าง:

o ตารางกิจกรรม: http://2021p4g-seoulsummit.kr/conference/list.do?gubun=3#tab3
o ลงทะเบียนและเข้าฟังการประชุม: https://2021p4g-seoulsummit.kr/preregistration/list.do

• ข้อมูลเกี่ยวกับ P4G สามารถดูรายละเอียดได้จากไฟล์แนบ “สาระน่ารู้ P4G” และ https://2021p4g-seoulsummit.kr/