COVID-19 Michelin มิชลิน หน้ากากอนามัย โควิด-19

Michelin เปิดห้องปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัยด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นครั้งแรก

Michelin เปิดห้องปฏิบัติการที่ใช้ระบบอัตโนมัติผลิตหน้ากากอนามัยขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส สามารถผลิตหน้ากากอนามัยมาตรฐานทางการแพทย์ ประเภท I หรือ IIR ได้ถึง 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

Home / PR NEWS / Michelin เปิดห้องปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัยด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นครั้งแรก

Michelin ยกระดับความมุ่งมั่นในการผลิตหน้ากากอนามัย ด้วยการเปิดห้องปฏิบัติการที่ใช้ระบบอัตโนมัติผลิตหน้ากากอนามัยขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ณ โรงงานที่เมืองกอมโบด ใกล้กับเมืองแกลร์มง-แฟร็อง ภายใต้งบลงทุน 3.5 ล้านยูโร ห้องปฏิบัติการแห่งนี้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยมาตรฐานทางการแพทย์ (Surgical Mask) แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเภท I หรือ IIR ได้ถึง 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2564 เป็นต้นไป จะเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยประเภท FFP2* อีก 1 ล้านชิ้นต่อเดือน

ห้องปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัยดังกล่าวจัดสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่จะปกป้องพนักงานมิชลินจำนวน 68,000 รายในยุโรป โดยผลผลิตส่วนเกินจะถูกนำออกจำหน่ายเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับโรคระบาดต่าง ๆ

ภายในพื้นที่ห้องปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วยห้องที่มีมาตรฐานความสะอาดของอากาศอยู่ที่ระดับ 9 จำแนกตามปริมาณฝุ่นละออง (ISO Standard 14644-1)**  ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการพัฒนาและการยื่นขอใบรับรอง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของประเทศฝรั่งเศสที่ EN 14683 2019 มิชลินได้ขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสเปน, ห้องปฏิบัติการของฝรั่งเศสในเครือ INSERM, ห้องปฏิบัติการทดสอบการเข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatibility) Icare และโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแกลร์มง-แฟร็อง

การร่วมพันธมิตรระหว่าง ‘มิชลิน’ และ ‘เซรา’ เพื่อยกระดับวิศวกรรมกระบวนการของเครื่องจักร

เครื่องจักรบางส่วนที่ใช้ในห้องปฏิบัติการผลิตแห่งใหม่นี้มาจาก ‘เซรา’ (CERA) บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการให้ย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์การแพทย์มาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ‘เซรา’ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองวิลยาร์ (Villars) ในเขตโอแวร์ญ-โรนาลป์ (Auvergne-Rhône-Alpes) ได้ขอความร่วมมือจากมิชลินผ่านทาง ‘อิเมกา’ (Imeca) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มมิชลิน

โดยมีเป้าหมายเพื่อนำทักษะความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมของมิชลินมาช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตเครื่องจักรใหม่ ๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น  ความร่วมมือดังกล่าวประกอบกับบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบชิ้นส่วนอีก 5 รายที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ส่งผลให้ ‘เซรา’ มีศักยภาพในการผลิตเครื่องจักรรายปีเพิ่มขึ้นจาก 2 เครื่อง เป็น 52 เครื่อง

* ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอใบรับรอง APAVE สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท FFP2

** มาตรฐานระดับ 9 หมายถึงมีค่าความชื้นของสภาพแวดล้อมในการผลิตและการเก็บรักษาไม่เกินร้อยละ 70