“รู้แล้ว…อย่าเฉย” พบเห็นเด็กและเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โปรดแจ้งทันทีผ่าน Mobile Application “คุ้มครองเด็ก”

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ C asean Ratchada กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเสวนา เรื่อง…

Home / PR NEWS / “รู้แล้ว…อย่าเฉย” พบเห็นเด็กและเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โปรดแจ้งทันทีผ่าน Mobile Application “คุ้มครองเด็ก”

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ C asean Ratchada กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเสวนา เรื่อง “การคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล” และเปิดตัว Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นแอปพลิเคชันแจ้งเหตุการณ์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โดยผ่านเว็บไซต์

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection Information System – CPIS) ระบบ CPIS ได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทำให้เด็กเยาวชนได้รับ การปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือตามมาตรฐานการบริการด้านการคุ้มครองเด็ก นำไปสู่การยกระดับบริการคุ้มครองเด็กของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยดาวน์โหลดแอปฯ และติดตั้งลงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่รองรับระบบ Android และ iOS ผ่าน Google Play หรือ App Store จุดเด่นของแอปฯ สามารถระบุพื้นที่เกิดเหตุ ภาพถ่าย และติดตามการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานได้ด้วย โดยข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังระบบการจัดการรายกรณี (Case Management) ซึ่งมีบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด และสถานรองรับเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 30 แห่ง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการช่วยเหลือ ประชาชน จึงมั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนทุกรายจะได้รับการประสานส่งต่อการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายในพื้นที่ และมีการกำกับ ติดตาม และรายงานการช่วยเหลือโดยดิจิทัลเช่นกัน      

กรมกิจการเด็กและเยาวชน มุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้ “การคุ้มครองเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล” เป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้เกิดระบบการปฏิบัติการที่สามารถรองรับสภาพปัญหาเด็กและเยาวชนทั้งที่มีในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวางแผนงานเชิงกลยุทธ์เชิงรุกที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ต่อไป