บริติช เคานซิล สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เฟมแล็บไทยแลนด์ 2021

บริติช เคานซิล กระทรวง อว. กลุ่มทรู ร่วมเดินหน้าปั้นนักวิทย์ไทย “เฟมแล็บไทยแลนด์ 2021” เฟ้นหานักสื่อสารวิทย์แข่งขันเวทีโลก

บริติช เคานซิล กระทรวง อว. กลุ่มทรู ร่วมเดินหน้าปั้นนักวิทย์ไทย “เฟมแล็บไทยแลนด์ 2021” เฟ้นหานักสื่อสารวิทย์แข่งขันเวทีโลก

Home / PR NEWS / บริติช เคานซิล กระทรวง อว. กลุ่มทรู ร่วมเดินหน้าปั้นนักวิทย์ไทย “เฟมแล็บไทยแลนด์ 2021” เฟ้นหานักสื่อสารวิทย์แข่งขันเวทีโลก

บริติช เคานซิล ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อพวช. สวทช. สอวช. กลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และหน่วยงานพาร์ทเนอร์ เดินหน้าส่งเสริมทักษะการสื่อสารให้แก่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยไทย ผ่านการเปิดตัวโครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) เวทีเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายหัวข้องานวิจัย หรือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามภายในเวลา 3 นาที

โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลพร้อมกับหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือการต่อยอดงานวิจัย จากองค์กรและมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท อีกทั้งจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับนานาชาติ ทั้งนี้ เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม 2564 โดยการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจะถูกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และงานวิจัยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การผลักดันเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของภาครัฐได้มีการสร้างองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรม การปรับบทบาทมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสร้างคน ผ่านการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและนำงานวิจัยให้ใช้ได้จริงสามารถแก้ปัญหาสังคมและความท้าทายระดับโลกได้ นอกเหนือจากเนื้องานวิทยาศาสตร์แล้ว นักวิจัยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำงานวิจัยของตนออกจากห้องแล็บและทำให้คนเข้าถึงความรู้และได้ประโยชน์จากงานวิจัยนั้นมากขึ้น

กระทรวง อว. ได้เดินหน้าผลักดันการสร้างทักษะการสื่อสาร และการนำเสนอให้แก่คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือกับเอกชนเพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงความรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ ได้เดินหน้าสนับสนุนการแข่งขันการนำเสนอทางด้านวิทยาศาสตร์ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) ที่จัดขึ้นโดยบริติช เคานซิล ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษ การเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการทำให้เรื่องราววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการดำเนินงานของกระทรวงฯ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อพวช. สวทช. สอวช. กลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และหน่วยงานพาร์ทเนอร์อีกมากมาย จัดโครงการ เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021 (FameLab Thailand 2021) หรือเวทีการแข่งขันนำเสนองานวิจัยหรือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามภายในเวลา 3 นาที ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 6 ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารการวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

นางเฮลก้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสหราชอาณาจักรเอง การสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสร้างความมีส่วนร่วมกับสาธารณะ (Public engagement) โดยมีหน่วยงานเฉพาะทางที่รับผิดชอบในด้านนี้ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยหลากหลายแห่งในสหราชอาณาจักร อาทิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน หรือมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เมื่อผนวกกับความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากตัวเลขการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาที่มากถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2560 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2570 ซึ่งทำให้เห็นว่างานวิจัยและเรื่องราววิทยาศาสตร์ เป็นทั้งตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ซึ่งก็ตรงกันกับนโยบายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ฉะนั้นโครงการ เฟมแล็บ ถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในแวดวงระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ให้กับบุคคลทั่วไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

การแข่งขันเฟมแล็บ ไทยแลนด์ (FameLab Thailand) ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยโดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 6 โดยที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักศึกษาในสาขา STEM มาแล้วมากกว่า 240 คน ในปีนี้เฟมแล็บกลับมาอีกครั้งเพื่อค้นหาตัวแทนประเทศไทยร่วมเข้าแข่งขันกับอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกในการแข่งขันรอบนานาชาติ สำหรับรูปแบบการแข่งขันในปีนี้จะยังคงรูปแบบเดิม คือ เปิดรับสมัครผ่านการส่งวิดีโอเล่างานวิจัยหรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ความยาวไม่เกิน 3 นาที ตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้เข้าแข่งขัน 10 คนสุดท้ายจะได้เข้าร่วมอบรมมาสเตอร์คลาส เรียนรู้ทักษะการนำเสนอวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร และสำหรับผู้ชนะเลิศในปีนี้จะได้รับเงินรางวัล พร้อมกับหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือการต่อยอดงานวิจัย จากองค์กรและมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท อีกทั้งยังจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันในรอบนานาชาติที่จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564

นางปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการด้านสื่อสาร ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมกลุ่มทรู กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มทรูยังได้มุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลสาระที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 6 อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องรายการของทรูวิชั่นส์ TNN24 True4U ทรูปลูกปัญญา รวมถึง Social Media ของกลุ่มทรู โดยปีที่ผ่านมาได้นำศักยภาพด้านการสื่อสาร True VROOM หนึ่งในแพลตฟอร์มคุณภาพภายใต้ True Virtual World มาเสริมการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลสาระทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายให้กับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต อีกทั้งในอีกแง่มุมหนึ่ง ทักษะการสื่อสารงานวิจัยเองก็เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ทางทรูเองก็มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มทรูเล็งเห็นว่า เฟมแล็บ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยจุดประกาย และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งที่ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง รวมไปถึงคนทั่วไปให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ในฐานะเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม 2564 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand