กปน. จับมือกรมชลฯ ย้ำแล้งนี้น้ำประปาไม่ขาดแคลน แนะแนวทางใช้น้ำประปาช่วงภัยแล้ง

นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะโฆษก กปน. เปิดเผยว่า กปน. ร่วมกับกรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในขณะนี้อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า กปน. จะผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนในพื้นที่…

Home / PR NEWS / กปน. จับมือกรมชลฯ ย้ำแล้งนี้น้ำประปาไม่ขาดแคลน แนะแนวทางใช้น้ำประปาช่วงภัยแล้ง

นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะโฆษก กปน. เปิดเผยว่า กปน. ร่วมกับกรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในขณะนี้อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า กปน. จะผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้มีน้ำประปาใช้ไม่ขาดแคลนตลอดหน้าแล้งนี้  โดยเฉพาะการร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลกระทบให้น้ำประปาในบางพื้นที่ บางช่วงเวลามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป

โฆษก กปน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายท่านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารับรู้รสชาติน้ำประปาที่เปลี่ยนไป ตามข่าวที่ กปน. ได้แจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากค่าความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลต่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภค และขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ตามคำแนะนำของกรมอนามัย ดังนี้

• ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ด้วยรสชาติที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม ทั้งนี้ ความเค็มในรูปของโซเดียมในน้ำประปา ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน การบริโภคน้ำประปา 2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน ถือว่าไม่ได้รับโซเดียมมากเกินจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

• กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก

• การนำน้ำประปาไปต้ม ไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม เนื่องจากสิ่งที่ระเหยไปคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย ดังนั้น ยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยเพิ่มมากขึ้น

• การกรองน้ำด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เท่านั้น ที่สามารถแก้ไขเรื่องความเค็มของน้ำประปาได้ หากประชาชนไม่มีเครื่องกรองระบบ RO ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ หากช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูง ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา และสำรองน้ำในวันที่น้ำประปารสชาติปกติไว้ใช้บริโภค

ทั้งนี้ กปน. ได้จัดจุดให้บริการน้ำประปาดื่มได้ฟรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน สามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ฟรี ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่าน และหากวันใดที่ไม่มีน้ำทะเลหนุนสูง ก็สามารถอุปโภค-บริโภคน้ำประปาและสำรองน้ำประปาไว้ใช้ได้ ตามช่วงเวลาที่แนะนำ

นอกจากนี้ กปน. ขอความร่วมมือประชาชนในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ หันมาใช้อุปกรณ์ประปาที่ได้รับรองฉลากประหยัดน้ำ และตรวจสอบอุปกรณ์ ประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากประชาชนพบท่อประปาในพื้นที่สาธารณะแตกรั่ว โปรดแจ้ง กปน. ผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้ง ด้วยการมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน

อนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาผ่านแอปพลิเคชัน MWA onMobile หรือสอบถาม MWA call center โทร. 1125 รวมทั้ง Facebook และ Line@ ในชื่อ @MWAthailand ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความห่วงใยจากการประปานครหลวง