สำหรับการเลือกตั้งปี 2562 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดให้มีเวที “ดีเบต” หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นการประชันวิสัยทัศน์และนโยบายของแต่ละพรรค เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบนโยบายของแต่ละพรรค และเห็นวิธีคิดไหวพริบของผู้ที่จะมาบริหารประเทศว่ามีความสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่
โดยให้แต่ละพรรคการเมือง ส่งหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค หรือผู้ที่มีการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเวที ซึ่งก็หมายความว่าตามระเบียบกฎหมาย คือคนที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและอาจไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญในพรรค เพียงแต่เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็สามารถเข้าร่วมเวทีดีเบตได้
ดีเบต หรือ การโต้วาที คือ?
เป็นการประชันนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรค โชว์ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การดีเบตจะจัดขึ้นโดยเชิญผู้แทนที่เป็นกลาง โดยตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองจะมาร่วมแถลงนโยบาย แสดงทัศนะ ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แลกเปลี่ยนความเห็นและชิงไหวชิงพริบร่วมกัน
พร้อมทั้งย้ำจุดเด่นของตน เน้นจุดอ่อนฝ่ายตรงข้าม ในประเด็นที่กำหนดให้ในเวลาที่กำหนด ทีละฝ่ายจนครบจำนวนผู้เข้าร่วมดีเบต โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์
ดีเบต กับวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกัน
ทั้งนี้การ “ดีเบต” ถือเป็นวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกัน เริ่มขึ้นครั้งแรกสมัย จอห์น เอฟ เคนเนดี พรรคเดโมแครต และ ริชาร์ด นิกสัน พรรครีพับลิกัน ในปี 1960 มีการถ่ายทอดสดทางวิทยุและสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นครั้งที่ได้รับความนิยมสูงสุด และจบลงด้วยผู้ชนะที่ทำได้ดีกว่า คือ เคนเนดีนั้นเอง
และการดีเบตที่สำคัญอีกคราวหนึ่ง คือ การแข่งขันชิงตำแหน่งระหว่างจิมมี คาร์เตอร์ พรรคเดโมแครต และเจอรัลด์ ฟอร์ด พรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งปี 1976 ข้อตกลงดีเบตคราวนั้นกลายเป็นฐานสำหรับดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน
การดีเบตที่มีผู้คนสนใจเป็นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้ง คือการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัล ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน
กกต. เปิดเวทีดีเบต
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อจับสลากเลือกคำถามประชันนโยบายบริหารประเทศ ให้กับ 54 พรรคการเมืองที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมประชันนโยบาย โดยจับคู่ดีเบตจากจำนวนการส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และกำหนดประเด็นคำถามไว้ 6 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเกษตร ความมั่นคง และการสาธารณสุข แต่ผลการจับสลากไม่มีพรรคใดจับได้ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสาธารณสุข
สำหรับขั้นตอนปฏิบัติในการบันทึกเทปการดีเบตนโยบาย ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-4 มี.ค. เพื่อนำไปออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ 21 สถานี สถานีวิทยุกระจายเสียง 7 สถานี ยูทูปและเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ตั้งแต่วันที่ 15-21 มี.ค
ตารางการดีเบต
คู่ที่ 1. พลังท้องถิ่นไท-ประชานิยม เรื่องการศึกษา
คู่ที่ 2. อนาคตใหม่-ประชาชนปฏิรูป เรื่องการเกษตร
คู่ที่ 3. รักษ์ผืนป่าประเทศไทย-เพื่อชาติ เรื่องสังคม
คู่ที่ 4. ภูมิใจไทย-เสรีรวมไทย-ประชาธิปัตย์ เรื่องเศรษฐกิจ
คู่ที่ 5. เศรษฐกิจใหม่-พลังชาติไทย เรื่องเศรษฐกิจ
คู่ที่ 6. พลังประชารัฐ-ประชาภิวัฒน์ เรื่องสังคม
คู่ที่ 7. ครูไทยเพื่อประชาชน-ชาติไทยพัฒนา เรื่องความมั่นคง
คู่ที่ 8. ประชาธรรมไทย-ประชาธิปไตยใหม่ เรื่องความมั่นคง
คู่ที่ 9. เพื่อไทย-ไทยศรีวิไลย์ เรื่องเศรษฐกิจ
คู่ที่ 10. พลังปวงชนไทย-ชาติพัฒนา เรื่องความมั่นคง
คู่ที่ 11. ประชาชาติ-ไทรักธรรม เรื่องการเกษตร
คู่ที่ 12. ถิ่นกาขาวชาววิไล-กลาง เรื่องการเกษตร
คู่ที่ 13. ภราดรภาพ-ไทยธรรม เรื่องสังคม
คู่ที่ 14. พลังธรรมใหม่-ความหวังใหม่ เรื่องเศรษฐกิจ
คู่ที่ 15. พลังไทยรักชาติ-ฐานรากไทย เรื่องความมั่นคง
คู่ที่ 16. แผ่นดินธรรม-กรีน เรื่อนการศึกษา
คู่ที่ 17. ทางเลือกใหม่-ประชากรไทย เรื่องสังคม
คู่ที่ 18. คนธรรมดาแห่งประเทศไทย-สังคมประชาธิปไตย เรื่องความมั่นคง
คู่ที่ 19. เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย-สังคมประชาธิปไตย เรื่องการเกษตร
คู่ที่ 20. พลังรัก-พลังแรงงานไทย เรื่องสังคม
คู่ที่ 21. ผึ้งหลวง-ชาติพันธุ์ไทย เรื่องสังคม
คู่ที่ 22. ประชาไทย-พลังไทยดี เรื่องสังคม
คู่ที่ 23. มติประชา-คลองไทย
คู่ที่ 24. ภาคีเครือข่ายไทย-รวมใจไทย
คู่ที่ 25. คนงานไทย-ไทยรักษาชาติ-เพื่อแผ่นดิน
คู่ที่ 26. พลังครูไทย-พลังสังคม
คิดอย่างไรกับการดีเบต
เมื่อครั้งหนึ่ง นายนพดล ปัทมะ เคยให้ความคิดเห็นว่า การดีเบตเพื่อให้ประชาชนรับทราบนโยบายและความคิดของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ ซึ่งควรให้เป็นธรรมชาติและเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไปเลย แต่อาจไม่ต้องถึงขนาดเป็นกฎหมาย
ขณะที่ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ มาดามเดียร์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า อยากให้จัดเวทีดีเบตนั้น เพื่อให้พรรคการเมืองมาประชันวิสัยทัศน์และนโยบายมากกว่าถกเถียงประเด็นทางการเมือง เพราะวันนี้ประเทศต้องการความสงบสุข และก้าวข้ามความขัดแย้ง
ดังนั้นเวทีดีเบตควรให้โอกาสผู้บริหารของแต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ และแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน เพราะเชื่อว่าทุกพรรคตั้งใจทำนโยบายดีๆ เพื่อประชาชน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่านเคยปฎิเสธการร่วมดีเบตมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งเวทีดีเบตคงไม่ใช่คำตอบ และไม่ใช่ช่องทางเดียวของการโชว์วิสัยทัศน์