3 โมเดลประเทศที่ดำเนินนโยบาย ประชานิยม จนประเทศได้รับความเสียหาย
ขณะนี้โลกกำลังตื่นตัวกับกระแสการปกครองประเทศ โดยใช้หลัก ‘ประชานิยม’ เนื่องจากมีตัวอย่างจากประเทศที่บอบช้ำ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายประชานิยม ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ 3 ประเทศ ที่กลายเป็นโมเดลของประเทศที่ได้รับความเสียหานจากนโยบายประเภทนี้ นับตั้งแต่อาร์เจนตินามาถึงกรีซ ก่อนจะส่งไม้ต่อไปให้เวเนซุเอลา ที่ล่าสุดระบบเศรษฐกิจในประเทศได้ล่มสลายลงเป็นที่เรียบร้อย
รู้จักประชานิยม (Populism) คืออะไร
‘ประชานิยม’ เป็นรูปแบบ การดำเนินนโยบายรูปแบบหนึ่งที่ นักการเมือง หรือ ผู้บริหารประเทศจัดทำขึ้น โดยมุ่งหมายให้ตนเองได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน ซึ่งนักการเมือง หรือผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารประเทศ นำเอานโยบายเหล่านี้ ที่ตรงกับความต้องการ และเอาใจประชาชน มาสนับสนุนการดำรงอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองของตนเองต่อไปให้นานที่สุด บ้างก็นำนโยบายหรือโครงการประชานิยมมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการทำให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น

I.
กรีซ ประชานิยมสุดโต่ง เปย์สุดขั้ว เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง
แต่เดิม กรีซมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคซึ่งแข่งขันกันใช้นโยบายประชานิยมแบบเต็มสูบเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง ครั้งหนึ่งรัฐบาลมีการสัญญาว่ากรีซเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพการเงินยุโรปให้ได้ ซึ่งรัฐบาลกรีซสามารถลดอัตราเงินเฟ้อจาก 15 เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวดีขึ้นจนเข้าเกณฑ์ของกลุ่มประเทศในยูโรโซนและเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพการเงินยุโรปและใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศ

รัฐบาลพยามเอาใจประชาชนอย่างมากมีการประกาศนโยบายขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเพิ่มปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ไม่มีการขึ้นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และสาธารณูปโภคอื่นๆ ลดภาษี ยกเว้นภาษีทั้งหมดสำหรับการซื้อรถยนต์คันใหม่ รวมถึงตั้งโครงการ “อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ” ที่ใช้งบสูงมหาศาลถึง 210 ล้านยูโร หรือราว 7,570 ล้านบาท เพื่อเอาใจประชาชนชาวกรีซให้ได้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี
แม้เบื้องหน้าอาจจะดูสวยงาม แต่เบื้องหลังรัฐบาลกรีซ แต่งตัวเลขในเอกสารเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ทั้งที่ความเป็นจริง กรีซยังคงมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ดังเดิม
ตัวอย่างนโยบายประชานิยม : กรีซเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อเนื่อง
ในอดีตรัฐบาล ‘กรีซ’ มักเข้ามาแทรกแซงค่าแรง โดยกำหนดให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่อง และไม่สอดคล้องกับศักยภาพของแรงงาน รวมถึงใช้กลไกภาครัฐเป็นเครื่องมือดึงค่าแรงขึ้น โดยการขยายการจ้างงาน และจ่ายค่าแรงรัฐวิสาหกิจ
มากกว่าภาคเอกชนถึงร้อยละ 32 มีรายงานว่า รัฐบาลกรีซจ่ายค่าแรงให้ข้าราชการแพงมาก คิดเป็นสัดส่วน 32 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงของแรงงานทั้งประเทศเลยทีเดียว ทั้งที่ในขณะนั้นเอง กรีซมีความสามารถในการหารายได้ในระดับต่ำจากการใช้งบประมาณประเทศอย่างไม่ระวังนั้น ทำให้เกิดหนีสาธารณะมากขึ้น ทำให้ในเวลาต่อมา กรีซมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 80
สัญญาณไม่ดี เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 กรีซได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค โดยจัดขั้นที่กรุงเอเธนส์ ซึ่งกรีซใช้งบประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 340,000 ล้านบาท เกินงบที่ตั้งไว้ถึง 2 เท่า และคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีตลอดทั้งปีนั้น จากการใช้งบก้อนโตครั้งนั้น ทำให้กรีซเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณและประกาศไม่ขึ้นเงินเดือนและไม่มีการรับข้าราชการ ประชาชนที่เสพติดการขึ้นค่าจ้างแรงงานพากันรุมต่อต้านมาตรการนี้ ท้ายที่สุดรัฐบาลชุดนั้นแพ้การเลือกตั้ง ทำให้พรรคฝ่ายค้านที่ให้คำสัญญาว่าจะมีการขึ้นค่าแรงต่อไป และไม่มีการลดค่าแรงชนะการเลือกตั้งและได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
หายนะมาถึงในปี 2553 ที่รัฐบาลรู้ตัวว่าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าพันธบัตรของกรีซที่ครบอายุได้ จึงขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ โดยทั้งสองฝ่ายจะให้เงินกู้แก่กรีซเป็นจำนวนเงิน 110,000 ล้านยูโร หรือราว 4 ล้านล้านบาท ซึ่งกรีซต้องแลกกับการลดการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ และต้องออกมาตรการในการรัดเข็มขัดอย่างเข้มข้น ทั้งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 23 เปอร์เซ็นต์และการเพิ่มภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวกรีซโกรธแค้นอย่างมาก คนนับหมื่นนับแสนหยุดงานและออกมาประท้วงอย่างหนัก

กรีซกู้เงินมหาศาลเพื่อนำมากู้วิกฤตที่มาจากการ ‘เปย์จัดเต็ม’ แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการกู้เงินมหาศาล ข้าราชการทุกตำแหน่งถูกตัดเงิน ค่าแรงมีมูลค่าลดลงจากเดิม ประชาชนนับล้านคน ว่างงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจ อุตสาหกรรม SME ต้องปิดไปประมาณ 62,000 แห่ง กิจการบริการทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของประเทศเสียหาย กิจการขนส่งสาธารณะในบางภูมิภาค จะต้องลดการบริการลงกว่า 40% ทั้งที่เก็บอัตราค่าโดยสารแพงขึ้นมาก ค่าไฟฟ้าและประปาเพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาทุกระดับเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทั้งหมด เป็นผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจของประเทศตามสัญญาเงินกู้ฉบับแรกของรัฐบาลกรีซ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังทำลายเศรษฐกิจของประเทศให้ย่อยยับลงไป
จนถึงทุกวันนี้ กรีซอยู่ในขั้นฟื้นฟูประเทศ แม้ไม่ต้องกู้เงินจากสหภาพยุโรปอีก แต่หลังจากนี้กรีซจะยังคงดำเนินมาตรการตัดลดรายจ่ายซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการกู้เงิน เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจต่อไปทำให้ประชาชนในประเทศต้องเจอกับ ‘ยาขม’ ของจริง
II.
อาร์เจนตินา จาก “แสนล้าน” สู่ “แสนสาหัส” !!
อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศในแถบลาตินอเมริกาเช่นเดียวกันเวเนซุเอลา ที่เคยร่ำรวยมากจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก รวมถึงมีเงินสำรองมากมาย แต่เนื่องด้วยการดำเนินนโยบายของผู้นำประเทศที่ระดมกู้เงินจากต่างประเทศ จึงนำไปสู่การล้มละลาย ทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลทหารที่เข่นฆ่าประชาชน
แม้ครั้งหนึ่งอาร์เจนตินาจะมีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และทันสมัยที่สุด เห็นได้จากการที่ประชาชนชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง จากสาเหตุที่เป็นประเทศร่ำรวยและเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไม่ขาดสาย จึงเป็นช่องว่างให้คนรวยกลุ่มหนึ่งเข้ามาครอบงำประเทศจนเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

ในปี 2459 ฮิโปลิโต อิริโกเยน นักการเมืองคนหนึ่งได้ชูนโยบายประชานิยมขึ้นมาเพื่อโค่นล้มกลุ่มเศรษฐี จนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศ หลังจากนั้นเขาผู้นี้เป็นประธานาธิบดี ‘สายเปย์’ ที่อัดฉีดทุกอย่างให้ประชาชน จนผู้คนพากันเสพติด ‘ของฟรี’
ตัวอย่างนโยบายประชานิยม : ผลพวงจากลัทธิเปรอง (Peronism)
อาร์เจนตินา มีการการใช้ระบอบ ลัทธิเปรอง (Peronism) ซึ่งเป็นแนวความคิดของนายพลฮวน เปรองในช่วงสมัยที่ได้รับอำนาจขึ้นมาปกครองประเทศอาร์เจนตินา ในปี 2488 นโยบายของเปรอง ช่วยส่งเสิรมให้ผู้ด้วยโอกาสและผู้ยากไร้ให้มีชีวิตดีขึ้น ทั้งในเรื่องค่าจ้าง การสร้างบ้านคนยากจน การศึกษาที่ไม่ต้องจ่ายเงินในทุกระดับจึงกลายเป็นความคลั่งไคล้ เกิดเป็นขบวนการเปรอง (Peronism) หรือผู้นิยมเปรองขึ้น
ครั้งหนึ่ง พรรค Justicialist Party มีการใช้ระบอบเปรองเพื่อเอาใจกลุ่มสหภาพแรงงาน พรรคนี้มีฐานเสียงแข็งแกร่งในชนบท โดยมีมาตรการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ และจ่ายเงินเดือนในวันหยุด พรรคดังกล่าวใช้มีการใช้เงินจากภาครัฐอุดหนุนโครงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งระบอบนี้เป็นระบอบที่สร้างชัยชนะให้พรรคฯ หลายต่อหลายครั้ง
เมื่อจ่ายหนักต่อเนื่อง ทำให้เงินสำรองของประเทศได้หมดลง จนต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เมื่อไม่มีใครให้กู้อีกต่อไป จึงเริ่มพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ ในที่สุดอาร์เจนตินาก็ประสบภาวะเงินเฟ้อจนนำไปสู่การล้มละลายในช่วง 40 ปี หลังเริ่มใช้นโยบาย
เศรษฐกิจอาร์เจนตินาย่ำแย่หนัก ในช่วงระหว่างปี 2517-2533และเกิดอภิมหาวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินานับว่ารุนแรงที่สุดในโลก จนเศรษฐกิจล่มสลาย อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นปีละ 3,000% และมีปัญหาลากยาวมาถึงปี 2545 ระหว่างนั้นรัฐบาลก็เริ่มกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มากระตุ้นเศรษฐกิจ

ทว่าผลร้ายจากประชานิยมทำให้ชาวอาร์เจนตินากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 18 ล้านคน ล้วนเป็นผู้มีฐานะยากจน มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน การหดตัวของธุรกิจขนานใหญ่ได้ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ปริมาณการผลิตที่ลดลงส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น คนอาร์เจนตินาจำนวนไม่น้อย มักจะออกไปนอนตามสวนสาธารณะในเวลากลางวัน เนื่องจากไม่มีงานทำและเมื่อถึงเวลากินก็จะไปเข้าคิวแจกอาหารซึ่งเหลือทิ้งจากร้านอาหารและภัตตาคารเพื่อประทังชีวิต นอกจากนี้ยังเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากความยากจนที่ประชาชน กล่าวโทษว่ามาจากการบริหารประเทศของรัฐบาล
III.
เวเนซุเอลา อดีตเศรษฐีน้ำมัน รายล่าสุด
กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กรณีที่ประชาชนในเวเนซุเอลา กำลังขาดแคลนอาหาร และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเช่นน้ำดื่มและไฟฟ้า แม้แต่น้ำที่ใช้ดื่ม ใช้กิน ชาวบ้านยังต้องไปรองมาจากท่อระบายน้ำมาประทังชีวิต มีคำถามมากมายว่าเพราะเหตุใด อดีตเศรษฐีน้ำมันที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ทั้งยังเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา แต่ต้องเผชิญภาวะระบบเศรษฐกิจล่มสลายเช่นนี้ ?
ย้อนกลับไปช่วงยุคเรืองรองของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมหาศาล ช่วงก่อนนั้นน้ำมันเป็นตัวสร้างรายได้มากมายให้เวเนซุเอลา ยิ่งราคาน้ำมันดิบสูงเท่าใด เวเนซุเอลาก็ยิ่งร่ำรวยมากเท่านั้น

ตัวอย่างนโยบายประชานิยม : สั่งให้ประชาชนเลิกทำการเกษตร สั่งพืชผลนำเข้าจากต่างประเทศ !!
นายฮูโก ชาเวช ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2542 หลังจากชูนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้ว เช่น รัฐสนับสนุนการสร้างบ้านให้ประชาชน ให้ประชาชนอยู่สบาย ๆ และหยุดทำการเกษตรโดยเลือกนำเข้าพืชผลมาจากต่างประเทศ ทั้งประชาชนสามารถซื้อสินค้าในราคาถูกกว่ามูลค่าจริง
เมื่อรัฐบาลไม่ส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมส่งออกพืชผลการเกษตร ด้านกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากจึงค่อยๆ เลิกทำการเกษตรกันไป เพราะรัฐสามารถใช้เงินซื้อสินค้านำเข้าได้ในราคาถูก ชาวบ้านและประชาชนจำนวนมากจึงอพยพจากไร่นาเพื่อเข้ามาทำงานในไซต์ขุดเจาะน้ำมันและในเมืองที่เกิดขึ้นโดยรอบ
ในปี 2559 เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน ที่ตกต่ำลง และนำมาสู่วิกฤตในเวเนซุเอลา เพราะรัฐบาลไม่อาจสูญเสียคะแนนนิยมไปได้ เมื่อรายได้จากการขายน้ำมันหายไปมาก รัฐบาลแก้ไขด้วยการพิมพ์เงินออกมาใช้เพิ่ม ทำให้เงินยิ่งเฟ้อหนักขึ้นไปอีก แม้ประชาชนมีเงินมากแต่มีค่าลดลง แม้จะมีเงินจำนวนมากแต่กลับไม่สามารถซื้อสินค้าได้เพราะมีราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งรัฐแก้ปัญหานี้โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และพิมพ์เงินมาจ่ายเงินเดือน ทำให้เงินเฟ้อหนักกว่าเดิม

เมื่อรัฐบาลไม่มีเงิน ทำให้ไม่สามารถนำเข้าอาหารและสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันระบบเกษตรกรรมในประเทศได้ล้มเลิกไปตั้งแต่สมัยที่ยังร่ำรวย ทำให้ราคาข้าวของแพงขึ้นมหาศาล ขณะนี้ประชาชนไม่มีแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตจึงออกมาลุกฮือเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศพ้นจากวิกฤตครั้งนี้
3 ชาติ วัฏจักรเดียว เมื่อผู้นำ บ่มเพาะ ประชานิยม
จากการหยิบยกกรณีของทั้งอาร์เจนตินา กรีซ และเวเนซุเอลานั้น จุดสังเกตที่ทั้ง 3 ประเทศมีเหมือนกันคือการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อมีการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ พยายามคัดสรรนโยบายที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด แม้แต่ตอนที่ได้มาซึ่งอำนาจแล้ว บุคคลเหล่านั้นยังต้องดำเนินนโยบายเอาใจชาวบ้านเพื่อให้สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ทั้งนี้ประชานิยมซึ่งนำมาสู่ความเสียหายของประเทศดังเช่นที่เกิดขึ้นดังที่เห็นจาก 3 ประเทศ เมื่อประชาชนเกิดทุกข์ยากทำให้นำไปสู่การเคลื่อนไหวลุกฮือเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ประชาชนต้องการในท้ายที่สุด

ประชานิยม บ่มเพาะ ‘ความเกียจคร้าน ‘ นำไปสู่การลุกฮือ
นโยบายประชานิยม มีส่วนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน เมื่อใดที่ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยม มักจะนำไปสู่ความวุ่นวายที่จะตามมา เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจึงต้องตอบสนองประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจนานที่สุด หรือเพื่อแย่งชิงอำนาจจากคู่แข่ง ให้มาอยู่ในมือตนเอง เพราะความกระหายในวัตถุนั้นเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อประเทศไปต่อไม่ได้ ประชาชนที่เคยได้รับแต่สิ่งที่หอมหวาน อาจไม่คุ้นชินกับยาขมจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในการหอบกู้ประเทศ และนำไปสู่การเคลื่อนไหว ลุกฮือ ประท้วงเมื่อการบริหารงานของรัฐบาลไม่เป็นไปตามต้องการของตนเอง.
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญคือ การที่ประชาชนได้รับรู้ แก่นแท้ “ประชานิยม” ที่รัฐนำมาใช้ในเรื่องต่าง ๆ นั้น ก่อให้เกิดมูลค่า ประโยชน์แก่ประชาชนมากหรือน้อย คุ้มค่าหรือฟุ่มเฟือย นั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันคิด และไตร่ตรองให้ดีว่า สิ่งที่ได้รับนั้น จะนำความสุข ความสบายมาให้แก่เราในระยะสั้น หรือยาว นั่นเอง เลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น สิทธิและอนาคตประเทศชาติอยู่ในมือทุกท่านแล้ว