RSV ปอดอักเสบ โรคระบาดในเด็ก โรคในเด็ก ไข้หวัดใหญ่ ไวรัส RSV

วิธีแยกให้ออกว่าลูกกำลังเป็น ไข้หวัด หรือ RSV โรคระบบทางเดินหายใจ

ในช่วงนี้การแพร่ระบาดของ RSV เชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจกำลังพบการติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็กที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

Home / HEALTH / วิธีแยกให้ออกว่าลูกกำลังเป็น ไข้หวัด หรือ RSV โรคระบบทางเดินหายใจ

ในช่วงนี้การแพร่ระบาดของ RSV เชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจกำลังพบการติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็กที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงได้ ดังนั้นการป้องกันและลดความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ รวมถึงการติดตามอาการและรักษาแต่เนิ่นๆ ก็ยังช่วยให้อาการของโรคไม่ลุกลามจนอาการหนัก

การสังเกตอาการของโรค RSV นั้น ถ้ามองเผินๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าลูกเป็นแค่หวัดธรรมดา เนื่องจากอาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา

อาการไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินข้าว กินนมได้ และมักจะหายได้ใน 5-7 วัน
อาการที่เกิดจากไวรัส RSV จะมีไข้(ไข้สูงลอย มากกว่าเป็นไข้หวัดทั่วไป) ไอ จาม หอบเหนื่อย บางคนหอบมากจนอกบุ๋ม หายใจมีเสียงหวีด หรือเด็กบางคนไอมากจนอาเจียน ซึมลง กินข้าว กินนมไม่ได้

RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ได้ตั้งแต่ หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวมได้ โดยเริ่มต้นมักมีอาการไข้ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอมีเสมหะ ถ้าโรคเป็นรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี มีความเสี่ยงในการติดเชื้อง่ายและรุนแรงได้มาก โดยการติดโรคสามารถติดต่อได้จากน้ำลาย ละอองเสมหะของเด็กที่ป่วยและไอออกมา นอกจากการแพร่กระจายจากผู้ที่มีเชื้อแล้ว อาจติดจากการไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำลายของผู้มีเชื้อ ดังนั้นผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยงที่สัมผัสเด็กป่วย ก่อนจะไปสัมผัสเด็กคนอื่นควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นเพียงการรักษาตามอาการแบบประคับประคองรอให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และดูแลเรื่องการหายใจและเสมหะ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4-6 ชั่วโมง ให้ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม หรือพ่นยา ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นตัว อาจใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก bangkokhospital , โรงพยาบาลรามคำแหง