ต่อมไทรอยด์ ฮาชิโมโต ไทรอยด์

สาเหตุและอาการบ่งชี้ “โรคฮาชิโมโต ไทรอยด์” พบบ่อยในหญิงมากกว่าชาย

รู้จัก โรค Hashimoto's Thyroiditis (ฮาชิโมโต ไทรอยด์) โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน

Home / HEALTH / สาเหตุและอาการบ่งชี้ “โรคฮาชิโมโต ไทรอยด์” พบบ่อยในหญิงมากกว่าชาย

ต่อมไทรอยด์ มีความสำคัญในการกระตุ้น การทำงานของอวัยวะต่างๆ ร่างกายจึงมีการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์อักเสบจะพบได้ในลักษณะอักเสบกึ่งเฉียบพลันและอักเสบเรื้อรัง โดยต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังที่มีต้นเหตุจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเรียกว่า Hashimoto’s Thyroiditis (ฮาชิโมโต ไทรอยด์) แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่มีโอกาสเป็นได้ ฉะนั้น การหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดช่วยให้รู้เท่าทันโรคนี้ได้

โรค Hashimoto’s Thyroiditis (ฮาชิโมโต ไทรอยด์) คืออะไร?

พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า “โรค Hashimoto’s Thyroiditis (ฮาชิโมโต ไทรอยด์) คือ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุของภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่พบได้บ่อย เกิดจากการที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วย ไปทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะทางพยาธิวิทยาจะมีเซลล์อักเสบชนิดลิมโฟไซต์ไปแทรกอยู่ภายในเนื้อไทรอยด์ ซึ่งสาเหตุของโรค Hashimoto’s Thyroiditis มาจากสาเหตุทางพันธุกรรมโรคไทรอยด์ และอาจมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคขึ้น โรคไทรอยด์ชนิดนี้พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่สามารถพบในเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกัน”

อาการของผู้ป่วยโรค Hashimoto’s Thyroiditis

  • อาการคอโต (คอพอก) โดยมากมักไม่มีอาการเจ็บบริเวณต่อมไทรอยด์ ในบางรายอาจมาด้วยอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำลง ได้แก่ น้ำหนักขึ้น บวม อ่อนเพลีย ง่วงนอน ท้องผูก ผิวแห้ง ขี้หนาว เป็นตะคริว เสียงแหบ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจเลือดพบฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติโดยยังไม่มีอาการหรืออาการแสดงใดๆ ได้ (Subclinical Hypothyroidism)

การตรวจวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยโรค Hashimoto’s Thyroiditis สามารถทำได้จาก
1) ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์
2) ตรวจระดับภูมิคุ้มกันไทรอยด์
ขณะที่ การรักษาโรคไทรอยด์ชนิด Hashimoto’s Thyroiditis ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำทำได้โดยการให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติและลดขนาดของต่อมไทรอยด์ในรายที่มีคอพอกร่วมด้วย

ในรายที่ยังไม่ปรากฏอาการ

ในรายที่ยังไม่ปรากฏอาการ (Subclinical Hypothyroidism) หรือในรายที่มีเพียงคอพอก โดยฮอร์โมนไทรอยด์ยังปกติ แพทย์อาจติดตามอาการและฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ และให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนไทรอยด์เมื่อมีข้อบ่งชี้ พยากรณ์โรคในผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างดี ในรายที่รับประทานยาและตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ หรือ www.bangkokhospital.com