โควิด-19 ไวรัสโคโรน่า 2019

วัคซีนโควิด 19 ความหวังของโลก ไปถึงไหนแล้ว

การผลิตวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านการทดสอบแสนโหดหินถึงหลายด่าน  เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า วิธีการสร้างภูมิต้านทานต่อโรคใดๆ คือการที่ร่างกาย ต้องเคยติดเชื้อชนิดนั้นมาก่อน หลังเชื้อโรคเข้าร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานไปแก้ไข โดยภูมิต้านทานเหล่านี้เมื่อสร้างแล้ว จะอยู่ต่อในร่างกาย เพื่อป้องกันเชื้อตัวเดิมมาทำร้ายอีกนานหลายปี ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย คือหาเชื้อมาฉีดก็สร้างภูมิต้านทานได้แล้ว..ใช่ไหม แต่เราไม่สามารถทำเรื่องโหดๆ…

Home / HEALTH / วัคซีนโควิด 19 ความหวังของโลก ไปถึงไหนแล้ว

การผลิตวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านการทดสอบแสนโหดหินถึงหลายด่าน  เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า วิธีการสร้างภูมิต้านทานต่อโรคใดๆ คือการที่ร่างกาย ต้องเคยติดเชื้อชนิดนั้นมาก่อน หลังเชื้อโรคเข้าร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานไปแก้ไข โดยภูมิต้านทานเหล่านี้เมื่อสร้างแล้ว จะอยู่ต่อในร่างกาย เพื่อป้องกันเชื้อตัวเดิมมาทำร้ายอีกนานหลายปี ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย คือหาเชื้อมาฉีดก็สร้างภูมิต้านทานได้แล้ว..ใช่ไหม

แต่เราไม่สามารถทำเรื่องโหดๆ แบบนี้  เพื่อให้มนุษย์มีภูมิฯ ด้วยการเอาเชื้อโรคมาหยอดปากแล้วปล่อยให้ติดเชื้อเอง โดยหวังว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานได้  เพราะบางคนอาจจะติดเชื้อรุนแรงจนไปไม่รอด ตายไปเสียก่อนที่จะได้ภูมิต้านทาน โดยเฉพาะคนแก่หรือเด็ก 

ดังนั้นจึง เป็นที่มาของการหาเชื้อที่อ่อนแรงหน่อยหรือเชื้อที่ตายแล้ว ลองฉีดเข้าไปในร่างกายแทนเชื้อปกติ เพื่อที่จะไม่ต้องป่วยมากเวลาติดเชื้อ แต่ก็เพียงพอให้เกิดการสร้างภูมิต้านทาน…..และนี่คือที่มาของหลักการผลิตวัคซีนพื้นฐาน โดยสรุปง่ายๆ วัคซีนคือเชื้อโรคหรือเศษชิ้นส่วนของเชื้อโรค ที่ฉีดให้คนปกติแล้วไม่เกิดโรคจริง แต่กลับกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานได้ครับ

วัคซีนจึงใช้เพื่อป้องกันโรคในคนปกติ แต่จะไม่ใช้รักษาคนที่ป่วย เพราะอันนั้นเราจะเรียกว่ายา (แม้จะมีวัคซีนบางตัวใช้รักษาแต่ก็ช่างเถอะ ซับซ้อนเกินไป) 

ทีนี้กลับมาที่ Covid-19 ของเรา..8 เดือนที่ผ่านมา เราติดเชื้อกันทั้งโลกเกือบ 20 ล้านคนและยังไม่มีท่าทีว่าจะควบคุมได้จนเศรษฐกิจพังพินาศไปตามๆกัน ความหวังก็อยู่ที่วัคซีนนี่แหละที่ทุกประเทศแม้กระทั่งไทยเอง ก็ทุ่มทุกอย่างเพื่อให้ได้วัคซีน หวังว่าฉีดแล้วป้องกันได้  ก็จะออกบ้านเปิดประเทศ ทำทุกอย่างแบบเดิมได้ ความสงบสุขก็กลับคืนมา

จากวัคซีนกว่า 100 ชนิดที่ทุกคนช่วยกันคิด จนถึงปัจจุบัน (เดือนสิงหาคมที่กำลังเขียนบทความ) มีวัคซีนเข้ารอบสุดท้ายไปเพียงหกตัว (ส่วนวัคซีนรัสเซียที่อ้างว่าเสร็จแล้วพร้อมฉีด เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อ)  

ในวัคซีนทั้งหมด 6 ตัว เราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ทีมแรกมาจากบริษัทจีนชื่อว่า Sinopharm และ SinoVac  ทีมนี้ใช้ เชื้อที่ตายแล้ว เป็นวัคซีน เป็นเทคนิคการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมมาก แต่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในโลก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราฉีดกันอยู่นี้ ก็เป็นวัคซีนเชื้อตาย หลักการผลิตคือ ทำการเพาะเลี้ยงไวรัสขึ้นมาแล้วทำให้ตาย (หมดฤทธิ์ หมดความสามารถในการติดและขยายพันธุ์) แล้วเอามาฉีดใส่คนปกติ

วิธีนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันได้คล้ายคลึงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติมากที่สุด สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้จากหลากหลายตำแหน่งของเชื้อโรค ทำให้จู่โจมจากหลายส่วนและยังคงได้ผลแม้เชื้อมีการกลายพันธุ์ไป นอกจากนั้นข้อดีอีกอย่างคือกรรมวิธีตรงไปตรงมามาก ทุกคน ทุกประเทศทำเป็น ทำให้ผลิตง่ายมาก ถือเป็นความหวังเลยทีเดียว

ผมเองคิดว่าแนวทางการคิดและผลิตวัคซีนของไทยที่ทุนน้อยกว่า น่าจะเลียนแบบแนวทางของจีนไว้ ก็น่าจะดี น่าจะทำให้เราได้วัคซีนราคาถูก ที่ได้ผลดีและผลิตได้ง่าย เพราะบ้านเราก็ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากกรรมวิธีผลิตคล้ายกัน

ปัญหาข้อด้อยของวัคซีนประเภทนี้คือ ต้องมีสถานที่ผลิตและเลี้ยงเชื้อโควิดขนาดใหญ่ไว้เพื่อนำมาทำวัคซีน คือเป็นแลปขนาดยักษ์ที่สะสมเชื้ออันตรายนี้ไว้จำนวนมหาศาล ซึ่งต้องแน่ใจว่ากรรมวิธีทำงานแบบไทยๆ มาตรฐาน Thailand ของเราจะไม่ทำให้เกิดการรั่วไหลของเชื้อออกมา ไม่งั้นก็เกิดหายนะแบบในหนัง (คือเกิดมีใครพลาดทำเชื้อหล่นพื้นตกแตกไปหลอดหนึ่ง แล้วเชื้อแพร่กระจายไปทั่วระบบปรับอากาศ ทุกห้อง ทุกชั้น จนทำให้คนทุกคนในตึกติดเชื้อไม่รู้ตัว แล้วเลิกงานกลับไปแพร่ระบาดสู่คนที่บ้านต่ออีกหลายพันคน นึกออกไหมครับ แบบนั้นแหละ)  

วัคซีนกลุ่มที่สอง เป็นทีมจากอเมริกา ซึ่งเห็นปัญหาแบบทีมแรกแล้วก็ออกแบบใหม่ ไม่ใช้เชื้อทั้งตัวแบบกลุ่มแรก แต่ใช้ชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนเท่านั้นคือ mRNA ของไวรัสที่จะสร้างโปรตีนสำคัญที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ กลุ่มนี้คิดว่าแค่ชิ้นส่วนเดียวก็พอ เพราะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของวัคซีน เราเลยเรียกมันว่า mRNA vaccine  วัคซีนในกลุ่มนี้มี 2 ตัวคือของบริษัท Moderna ที่หุ้นขึ้นทุกวัน เพราะขยันออกข่าวและของบริษัท BioNTech (ซึ่งร่วมงานกับบริษัทยายักษ์ใหญ่แบบ Pfizer และ บริษัท Fosun pharma ของจีน) 

ข้อดีของ mRNA vaccine คือผลิตง่ายมาก ไม่ต้องสร้างแลปยักษ์แบบกลุ่มแรก เพราะกระบวนการผลิตไม่มีการเอาเชื้อไวรัสเข้ามาเกี่ยวเลย แต่ข้อด้อยคือ  ในอดีตถึงปัจจุบัน เรานี้ไม่เคยมี mRNA vaccine ที่ทำการทดลองแล้วได้ผลซักกะตัว!   มันเป็นแค่ทฤษฎีในกระดาษที่ฝันมานานมากแต่ไม่เคยเป็นจริงครับ

ตัวบริษัท Moderna เอง ก็เคยทำวัคซีนแบบนี้มาก่อนแล้วหลายตัว แล้วก็ล้มเหลวมาตลอด รวมถึงตัวล่าสุดคือวัคซีนโรคซาร์ที่ระบาดหลายปีก่อน ซึ่งผมก็แปลกใจว่าไม่ม้วนเสื่อกลับไป แต่กลับฮีดสู้ขึ้นมารอบนี้ใหม่อีกครั้ง หลังได้เงินทุนจากสหรัฐอักฉีดเข้ามาหลายพันล้าน 

ข้อได้เปรียบอีกข้อของวัคซีนทีมนี้คือ ได้เงินอัดฉีดจากรัฐบาลอเมริกาก้อนใหญ่มาก เพราะเป็นบริษัทอเมริกันเอง แถมยังมี partner ซึ่งมีประสบการณ์สูงอีกหลายบริษัทมาร่วมทำ ดังนั้น เราจึงช่วยกันภาวนา ไม่ให้มันพังไม่เป็นท่าเหมือนวัคซีนต้นแบบตัวอื่นๆที่ทำมา 

เอาหล่ะ มาถึงทีมสุดท้าย เป็นทีมจากอังกฤษและจีน ที่ใช้อีกวิธีหนึ่งในการผลิต เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใหม่และไม่เก่า แต่พยายามแก้ปัญหาของสองกลุ่มแรก เพราะทีมนี้เขาบอกว่า ไม่แน่ใจว่า mRNA ของโควิด เมื่อสร้างมาแล้วนำไปฉีดจะสร้างภูมิฯได้จริงไหม (ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่มันล้มเหลวบ่อย) ทีมนี้จึงเกิดไอเดียว่า งั้นยืมมือ “อะไร” สักอย่างแอบเข้าไปในร่างกายก่อน แล้วค่อยผลิตชิ้นส่วนโควิดที่กระตุ้นภูมิฯ แทนละกัน จะได้ไม่ต้องสร้างแลปผลิตเอง  

วิธีหัวคิดทันสมัยนี้ จึงนำไปสู่การนำชิ้นส่วนของไวรัสโควิด “สอดใส่” เข้าไปใน “อะไร” สักอย่าง ซึ่ง “อะไร” ที่ว่ามันคือไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่ง ชื่อ อดีโนไวรัส (adenovirus)  ที่ไม่ก่อโรคอะไรร้ายแรงในคนแทน นักวิทยาศาสตร์เรียกวิธีว่า vector vaccine ครับ

เมื่อจัดการเปลี่ยนพันธุกรรมของ อดีโนไวรัส (adenovirus) แล้ว เขาก็จะฉีด เจ้าอดีโนไวรัสแสนเชื่องเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้อดีโนไวรัสสร้างโปรตีนโควิดในร่างกายของเรา แทนการที่เราผลิตเองจากแลปและโปรตีนโควิดที่ผลิตได้ ก็จะไปกระตุ้นการเกิดภูมิต้านทานอีกทอด ..แหมช่างฉลาดมากๆ

ทีมที่เลือกวิธี vector vaccine นี้คือทีมของมหาวิทยาลัย Oxford (ร่วมกับบริษัทยา AstraZeneca) จาก อังกฤษ และของบริษัท CanSino Biologics (ร่วมกับกองทัพจีน) ทั้งคู่ใช้ adenovirus เป็น vector เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Oxford ใช้อดีโนไวรัสจากลิงชิมแปนซี ส่วนอีกทีมใช้ไวรัสอดีโนไวรัสในคน 

ข้อดีของวัคซีนกลุ่มนี้คือ ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของเชื้อเพราะ adenovirus ไม่อันตราย ฉีดเข้าร่างกายแล้วไวรัสนี้ก็ไม่แบ่งตัว (มีหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนเชื้อโควิด มากระตุ้นภูมิอย่างเดียว)

ในข้อดีก็มีข้อด้อย คือตัว adenovirus เองมันก็เป็นไวรัส  ซึ่งตัวมันก็จะโดนภูมิต้านทานในร่างกายของเรากำจัดออกไปด้วย โดยเฉพาะคนที่เคยติดเชื้อ อดีโนไวรัส (adenovirus) มาก่อนแล้ว  ก็มีจะภูมิฯค้างอยู่ เมื่ออดีโนไวรัสถูกฉีดเข้ามาในร่างกายอีกครั้ง ก็จะโดนทำลายเสียหายไปหมด จนวัคซีนไม่ได้ผล

ส่วนคนไทยเราก็มีการติดเชื้อ อดีโนไวรัส (adenovirus) ตามธรรมชาติมาก่อนอยู่แล้ว เพราะเราเป็นดินแดนที่เชื้อโรคเยอะ ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า หากเราฉีดวัคซีนแบบนี้ก็อาจจะมีคนไทยบางส่วนฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะฉีดไปก็โดนทำลายหมด จากภูมิฯต้านทานตามธรรมชาติ ที่เรามีอยู่ก่อนนานแล้ว

ดังนั้นจะเห็นว่าการผลิตวัคซีนสักตัวในอดีตทำไมใช้เวลานาน เพราะต้องลองวิธีนั้น วิธีนี้ เปลี่ยนใหม่ ซ้ำๆซากๆ พร้อมเงินทุนวิจัยที่หมดลง และหาวิธีใหม่ นายทุนใหม่ เริ่มทำใหม่วนไป กว่าจะได้วัคซีนที่ทั้งได้ผลและปลอดภัยขึ้นมาสักตัว

แล้ววัคซีนจากรัสเซียล่ะ ?

ปัญหาของวัคซีนรัสเซียคือเราไม่มีข้อมูลว่ามันคืออะไร เพราะเขาไม่บอกอะไรใคร  จึงไม่มีใครรู้ว่ารัสเซียทำอย่างไร ไม่เหมือนวัคซีนของทั้งสามทีมที่กล่าวมา จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแคลงใจว่ารัสเซียทำอะไรและจะสร้างหายนะตัวใหม่ขึ้นหรือไม่    

ดังนั้น สรุปได้คำเดียวว่าน่ากลัวมากครับ ต้องจับตามอง 

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์