workfromhome วิธีดูแลสุขภาพ สุขภาพดวงตา เบาหวาน เบาหวานขึ้นจอตา เรียนออนไลน์

วัยเด็ก วัยทำงาน อาจเสี่ยง เบาหวานขึ้นจอตา โดยไม่รู้ตัว

เรียนออนไลน์ หรือ Work From Home นั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์อยู่บ้านนาน ๆ กินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เสี่ยงโรคเบาหวาน

Home / HEALTH / วัยเด็ก วัยทำงาน อาจเสี่ยง เบาหวานขึ้นจอตา โดยไม่รู้ตัว

เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ หรือการ Work From Home นั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์อยู่บ้านนาน ๆ รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป แล้วขาดการออกกำลังกาย อาจเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัว และอาจมีโรคแอบแฝงที่เป็นอันตรายได้ทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงดวงตา ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 25 เท่าถ้าเบาหวานขึ้นจอตา การรู้เท่าทันเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

วัยเด็ก วัยทำงาน ต้องรู้เท่าทันเบาหวาน พฤติกรรมเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตา

กลุ่มเสี่ยงและสาเหตุ โรคเบาหวาน

พญ.วีรยา พิมลรัฐ จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ซึ่งพบได้มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กเพิ่มมากขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นในเด็ก โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน

ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพราะเด็กมักจะมีพฤติกรรมนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ แทนการวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬามากขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายรวมถึงดวงตา ได้แก่ กล้ามเนื้อตา เลนส์ตา ขั้วประสาทตา เส้นประสาทตา และจอตา ซึ่งสามารถได้รับผลกระทบจากเบาหวานทั้งสิ้น ซึ่งภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น

โรคเบาหวานขึ้นตา เกิดจากอะไร

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย โดยมี 2 ภาวะหลักที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง คือ

จุดภาพชัดบวมน้ำ (macular edema) เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วของสารน้ำและโปรตีนจากหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็นส่วนกลาง ทำให้จุดภาพชัดหนาตัวและบวมขึ้นรบกวนการมองเห็นส่วนกลางและอาจเห็นภาพบิดเบี้ยว และ เบาหวานขึ้นตาระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่จอตาถูกทำลายจากเบาหวานจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้จอตาขาดเลือดและออกซิเจนกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal detachment) ตามมา และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

หลอดเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา (Neovascularization of the iris) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาที่จอตามีการขาดเลือดและออกซิเจนอย่างรุนแรง หลอดเลือดงอกใหม่บริเวณม่านตาสามารถอุดกั้นการระบายน้ำออกจากตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เรียกภาวะนี้ว่า ต้อหินชนิดมีเส้นเลือดงอกใหม่ (Neovascular glaucoma) ซึ่งเป็นต้อหินชนิดรุนแรงทำให้เกิดการปวดตามากจากความดันตาที่ขึ้นสูงและรักษายาก มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวเหมือนกับต้อหินชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องรักษาเบาหวานขึ้นตาร่วมด้วย

ต้อกระจก อีกหนึ่งสาเหตุของการมองเห็นที่ลดลง

นอกจากนี้ ต้อกระจก (Cataract) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการมองเห็นที่ลดลง พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานโดยระยะเวลาในการเป็นเบาหวานและการควบคุมระดับน้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกเร็วขึ้นกว่าคนปกติ ในระยะเริ่มต้นอาจแก้ไขสายตาด้วยการใส่แว่น การผ่าตัดรักษาต้อกระจกจะทำเมื่อการมองเห็นแย่ลงหรือต้อกระจกบดบังการตรวจจอตาและรักษาเบาหวานขึ้นตา ความผิดปกติของกระจกตาจากเบาหวาน (Diabetic Keratopathy) ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ง่ายจากการสูญเสียการรับความรู้สึกบริเวณกระจกตา ในกรณีที่เบาหวานที่ระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน ผิวกระจกที่ถลอกหรือหลุดลอกจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือจากการใส่คอนแทคเลนส์ อาจจะหายยากกว่าปกติและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้มากขึ้น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Paresis of extraocular muscle) อาจทำให้เกิดอาการเห็นภาพซ้อน (double vision) อย่างฉับพลัน เนื่องจากเบาหวานทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กที่มาเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, หรือ 6 ที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการกลอกตาแต่ละมัด

โดยส่วนใหญ่ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากเบาหวาน อาการจะดีขึ้นหลังตรวจพบประมาณ 3 เดือน และสามารถหายเป็นปกติได้ ถ้าเกิดภาพซ้อนจะรักษาด้วยแว่นปริซึม หากนานเกิน 6-12 เดือนยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่อดวงตาจากเบาหวาน ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และ งดดื่มแอลกอฮอล์ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นและควรพบจักษุแพทย์หากพบว่ามีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น

ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียดและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็น เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตาผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ควรมีญาติไปด้วยเพื่อความปลอดภัย หากไม่พบความผิดปกติ ควรตรวจตาและขยายม่านตาปีละ 1 ครั้ง หากพบเบาหวานขึ้นตา อาจจะต้องได้รับการรักษาหรือการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรคด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.02-755-1005 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital