ตรวจเต้านมด้วยตนเอง มะเร็งเต้านม วิธีตรวจเต้านม

วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง วิธีง่ายๆ เพื่ออยู่ห่างไกลจาก มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง มาตรวจเต้านมกันเถอะ! วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง

Home / HEALTH / วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง วิธีง่ายๆ เพื่ออยู่ห่างไกลจาก มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง สถิติปัจจุบันพบ 30-40 คนต่อประชาการ 100,000 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายพบได้เพียง 1% ของมะเร็งในผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี เกิดจากหลายสาเหตุทั้งกรรมพันธุ์และความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองภายหลัง

มาตรวจเต้านมกันเถอะ! วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง

เพื่อให้สาวๆ ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย – ภาพรังสีวินิจฉัยชั้นสูงและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลนวเวช ได้เผยเกร็ดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งมาแนะแนวทางในการตรวจเต้านมให้ทราบ

ปัจจัยเสี่ยง

  1. ประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว
  2. เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
  3. มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2
  4. ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกขณะอายุมากกว่า 30 ปี
  5. ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วและหมดประจำเดือนช้า หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
  6. เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก

แนวทางการตรวจเต้านม

  1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละ 1ครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 20 ปี
  2. ตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
  3. ควรทำแมมโมแกรม และ/หรืออัลตราซาวน์ ในช่วงอายุ 35- 40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป ควรทำทุก 1 ปี
  4. หากมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็น ลบออก 5 ปี

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

  1. ตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน และตรวจในวันเดือนกันของทุกเดือน
  2. ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้งขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง
  3. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง
  4. ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า
  5. ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีน้ำ เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่
  6. เริ่มคลำเต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจเต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
  7. นอนหนุนหมอนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ แล้วคลำเต้านมด้วยวิธีการเดียวกับท่ายืน

ความผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์

  1. คลำได้ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้
  2. หัวนมบุ๋มหรือมีแผล
  3. ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น บุ๋มลง หนา แดงร้อน หรือเปลี่ยนสี
  4. เต้านมมีขนาดหรือรูปทรงเปลี่ยนแปลง
  5. มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม
  6. มีแผลที่หายยากบริเวณเต้านมและหัวนม

การตรวจเต้านม

  1. แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายเอกซเรย์ เริ่มทำที่อายุ 35-40 ปี ในรายที่ไม่มีอาการ และทุกปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ใช้ตรวจหาก้อนขนาดเล็ก หินปูน การดึงรั้งของเต้านม
  2. อัลตราซาวด์เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจได้ในทุกช่วงอายุ สามารถตรวจดูก้อน ถุงน้ำ ท่อน้ำนม และต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะตรวจควบคู่กับแมมโมแกรมในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจแมมโมแกรมได้เนื่องจากไม่สามารถดูหินปูนได้
  3. MRI ทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เต้านมหนาแน่นมาก หรือตรวจพบความผิดปกติจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์มาก่อน
  4. การเจาะชิ้นเนื้อ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติของเต้านม แพทย์จะมีการพิจารณาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อผ่านเครื่องมือระบุตำแหน่ง ได้แก่ เครื่องอัลตราซาวด์ หรือแมมโมแกรม เพื่อเจาะได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลนวเวช โทร.02 483 9999 หรือ www.navavej.com