วิธีดูแลสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยง หน้าฝน โรคหน้าฝน

อย่าละเลยสุขภาพน้อง! 5 โรคร้ายใน สัตว์เลี้ยง ช่วงหน้าฝน พร้อมแนะนำวิธีดูแล

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวอากาศร้อนบ้างฝนบ้าง อาจส่งผลให้ สัตว์เลี้ยง เกิดอาการเจ็บป่วยได้

Home / HEALTH / อย่าละเลยสุขภาพน้อง! 5 โรคร้ายใน สัตว์เลี้ยง ช่วงหน้าฝน พร้อมแนะนำวิธีดูแล

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวอากาศร้อนบ้างฝนบ้าง อาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการเจ็บป่วยได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงจำเป็นต้องคอยสังเกตและใส่ใจสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ นอกจากเรื่อง เห็บ หมัด ที่ทำให้ปวดหัวอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งยังมีโรคภัยที่มากับหน้าฝนอีกด้วย วันนี้มีเรื่องราวโรคร้ายที่มากับความเปียกชื้นในฤดูฝนที่ควรระวังมาฝาก เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง

5 โรคร้ายใน สัตว์เลี้ยง ช่วงหน้าฝน

1.โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง

สภาพอาการที่อับชื้นเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้สุนัขเกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยทั่วไปโรคผิวหนังที่พบในบ้านเราส่วนมากจะมาจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น เป็นเชื้อรา ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือขี้เรื้อนรูขุมขน ดังนั้นเจ้าของควรจะหมั่นดูแลเรื่องผิวหนังและขนของน้องหมาให้ดี ต้องเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียกหรือชื้น หากพบว่าสุนัขมีตุ่มคัน มีอาการเกาหรือสะบัดหูบ่อย ๆ มากผิดปกติ ควรจะรีบพาไปหาหมอ

2.โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่น่ากลัวก็คือ โรคปอดบวม จะเริ่มแสดงอาการ เช่น ซึม เบื่ออาหาร จมูกแห้ง ไอ มีไข้สูง น้ำมูก น้ำตาไหล หายใจลำบาก เป็นต้น โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสซึ่งสามารถทำให้สัตว์ป่วยและตายได้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงตัวไหนขี้หนาวอาจจะต้องหาเสื้อให้เขาใส่ในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่ฝนตกแล้วอากาศเย็น และถ้าสังเกตว่าเขามีอาการไอหรือมีน้ำมูกไหลควรจะพาไปหาหมอทันที

3.ไข้ เห็บ หมัด

เป็นโรคอันดับต้นๆ ในสัตว์เลี้ยงก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ “เห็บ” เป็นทั้งพาหะนำโรค คือ พยาธิในเม็ดเลือดหรือไข้เห็บ และยังทำให้สัตว์อ่อนแอ โลหิตจาง เนื่องจากเห็บจะดูดเลือดและส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดต่ำลง ทำให้สุนัขติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย ยิ่งภูมิอากาศในบ้านเราที่ร้อนชื้นเหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ของเห็บ ทำให้ช่วงหน้าฝนน้องหมาเกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากเห็บเพิ่มมากขึ้น การกำจัดเห็บจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในปัจจุบันมีหลายรูปแบบในการกำจัดเห็บหมัด ดังนั้นเจ้าของควรทำเข้าใจในการใช้ให้ถูกต้อง หรือ ปรึกษาสัตว์แพทย์ก่อนใช้ รวมไปถึงการทำความสะอาดกรง หรือ สถานที่บริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย เพื่อตัดวงจรชีวิตเจ้าเห็บหมัด

4.พยาธิในเม็ดเลือด

โรคนี้จะเกิดจากเห็บที่มีเชื้อไปกัดสุนัขหรือสุนัขกินตัวเห็บเข้าร่างกาย จะมีอาการ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ เลือดหลุดไหลยาก สีเหงือกและเยื่อเมือกซีดกว่าปกติ อาจมีภาวะตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะมีเลือดปน บางรายอาจพบปัญหาตับหรือไตอักเสบร่วมด้วย และอาจพบการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดเข้าสู่ระบบประสาท ทำให้สุนัขมีอาการทางประสาทจนอาจตาบอดเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ในบางรายอาจพบภาวะภูมิคุ้มทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดตัวเองแต่โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ถ้ามาพบสัตวแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที

5.โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษ หรือโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ สาเหตุที่เกิดขึ้นได้หลัก ๆ มาจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป หรือการตั้งอาหารทิ้งไว้นานในสภาพอากาศที่ชื้นทำให้มีพวกเชื้อแบคทีเรียลงไปเจริญเติบโต ยิ่งช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นเชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้ดี

วิธี ดูแลสุนัข ในช่วงหน้าฝน มี 4 วิธี ดังนี้

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการเพาะตัวของเชื้อโรคเยอะ เจ้าของควรพาน้องหมาไปฉีดวัคซีน
  2. อาหารต้องสะอาดอยู่เสมอ ฤดูฝนจะทำให้อาหารเสียและเกิดเชื้อราได้ง่าย อาหารเม็ดควรสดใหม่ ไม่ขึ้นรา หากเป็นอาหารที่ปรุงก็ควรสุก ไม่ค้างคืน
  3. ไม่ควรให้สุนัขตากฝน ควรให้อยู่ที่อุ่น ๆ และแห้ง พาเสื้อผ้าให้ใส่ หากป่วยหนักไม่ควรให้ยาทานเอง แต่ควรพบสัตวแพทย์
  4. ป้องกันโรคที่มากับความชื้น ควรทำความสะอาดผิวหนังไม่ให้เปียกชื้น เพราะจะทำให้สุนัขเกิดโรค อย่าง โรคผิวหนัง หาเป็นหนักก็จะกลายเป็น “สุนัขขี้เรื้อน”

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน (Talingchan Pet)