คนท้อง คนท้องป่วยโควิด19 ตั้งครรภ์ โควิด-19

อันตรายแค่ไหน? เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19

อาการของ คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อติดโควิด-19 หากติดเชื้อจะฝากครรภ์อย่างไร? การให้นมเมื่อมีการคลอดเด็กทารก

Home / HEALTH / อันตรายแค่ไหน? เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19

ปัจจุบันที่การระบาดของเชื้อ COVID-19 ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทวีความรุนแรงและอันตรายมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องดูแลตัวเองและเด็กในครรภ์อย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะหากคุณแม่มีการติดเชื้อแล้วนอกจากจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19 เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นายแพทย์ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ COVID-19 แล้วส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมักมีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ เป็นต้น และมีโอกาส 2-5% ที่จะส่งต่อเชื้อไปยังเด็กในครรภ์ได้ รวมถึงโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ทั้ง ครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ การคลอดก่อนกำหนดจนทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากว่าปกติได้อีกด้วย

อาการของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อติดโควิด-19

เมื่อมีการติดเชื้อ COVID-19 คุณแม่จะมีไข้ ไอแห้ง ๆ มีอาการอ่อนเพลีย หายใจติดขัด เจ็บคอ ท้องเสีย สามารถรักษาได้ด้วยการให้สารน้ำเพื่อแก้ไขภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ ให้ออกซิเจน ให้ยาต้านไวรัสในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง ใช้เครื่องช่วยหายใจกรณีที่อาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์ ข้อจำกัดในการรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วย COVID-19 คือ การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลต่อทารกในครรภ์, การตรวจ X-Ray หรือ CT Scan มีผลทำให้ทารกได้รับปริมาณรังสีเพิ่มขึ้นด้วย, แม้ลูกมีโอกาสจะติดเชื้อ 2-5% และส่วนใหญ่ทารกแรกคลอดที่ติดเชื้อ จะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจส่งผลให้แพทย์ต้องพิจารณาให้คลอดก่อนกำหนดในบางกรณี และคุณแม่ไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อรับออกซิเจนให้เพียงพอ จึงอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อเพิ่มระดับการให้ออกซิเจน

หากติดเชื้อจะฝากครรภ์อย่างไร?

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อแล้วนั้นสามารถฝากครรภ์ได้ตามปกติ แต่ในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์หรืออยู่ในกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูง มีโรคร่วมอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต ต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ฝากครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง โดยนัดเวลาล่วงหน้าเพื่อให้ใช้เวลาที่โรงพยาบาลน้อยที่สุด เลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ ผู้ติดตามที่ไปด้วยต้องไม่เกิน 1 คน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน ล้างมือให้บ่อย พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตรในทุกกิจกรรม กลับถึงบ้านล้างมือ ถอดหน้ากากทิ้งทันที เปลี่ยนเสื้อผ้า สังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการรีบพบแพทย์ทันที ในช่วง 3 – 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากไม่มีการตรวจพิเศษอื่น ๆ อาจเลื่อนนัดได้ตามสถานการณ์

การให้นมเมื่อมีการคลอดเด็กทารก

ในส่วนของการให้นมเมื่อมีการคลอดเด็กทารกแล้วนั้น จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม ดังนั้นทารกสามารถกินนมแม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ในส่วนของคุณแม่ที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่มากนัก สามารถกอดลูก ให้นมลูกได้ โดยสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือให้บ่อย กรณีที่มีอาการรุนแรง ได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ไม่ควรให้นมลูก

คุณแม่จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด พบแพทย์ตามนัดหมาย ฉีดวัคซีน COViD-19 เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ที่สำคัญดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่เครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป รับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ข้อมูลจาก: ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital

บทความแนะนำ