วิธีดูแลสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยง สุนัข โรคสะบ้าเคลื่อน

คนรักน้องหมาควรรู้ไว้! “โรคสะบ้าเคลื่อน” โรคยอดฮิตในสุนัข พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก

โรคสะบ้าเคลื่อน มักพบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา ชิสุ ฯลฯ แต่สุนัขพันธุ์ใหญ่ก็สามารถพบปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน

Home / HEALTH / คนรักน้องหมาควรรู้ไว้! “โรคสะบ้าเคลื่อน” โรคยอดฮิตในสุนัข พบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก

โรคสะบ้าเคลื่อน เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตของน้องหมาที่พบบ่อยครั้ง และสร้างความกังวลใจให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง มักพบบ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิวาวา ชิสุ ฯลฯ แต่สุนัขพันธุ์ใหญ่ก็สามารถพบปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน

“โรคสะบ้าเคลื่อน” โรคยอดฮิตในสุนัข สาเหตุและวิธีรักษา

โดย น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ (หมอตั๋ง) สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน (Talinchanpet) กล่าวว่า

สาเหตุของ โรคสะบ้าเคลื่อน

สาเหตุของ โรคสะบ้าเคลื่อน ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวเข่า สุนัขส่วนใหญ่เลยเป็นโรคนี้ตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้การกระทบกระแทก การโดนรถชน หรือการโดนตี ก็ทำให้แนวการเจริญเติบโตที่ขาของสุนัขเสียหายได้ ส่งผลให้ขาของสุนัขคดงอและบิดเบี้ยว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สะบ้าหลุดได้เช่นกัน”

ระดับความรุนแรงของ โรคสะบ้าเคลื่อน ในสุนัข มี 4 เกรดดังนี้

  • เกรด 1 สุนัขยังไม่แสดงอาการ ลูกสะบ้ายังคงอยู่ในร่อง เวลาใช้มือจับดันสามารถเลื่อนหลุดออกมาได้ เมื่อปล่อยก็จะเด้งกลับมาอยู่ในร่องเดิมได้อยู่
  • เกรด 2 สุนัขเริ่มแสดงอาการเจ็บขาและเดินผิดปกติ เนื่องจากลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดออกมาบ่อยครั้งขึ้น เวลาหลุดออกมาจะค้างอยู่บริเวณนอกร่อง อาจพบกระดูกอ่อนที่ผิวข้อถูกทำลาย และทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมา
  • เกรด 3 สุนัขมีอาการเจ็บปวดและไม่สามารถยืดขาได้ จึงมักอยู่ในท่ายกขาหรืองอข้อเข่า ไม่ยอมลงน้ำหนัก เพราะลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาตลอดเวลา อาจพบการบิดของกระดูกขาด้วยเช่นกัน
  • เกรด 4 สุนัขไม่สามารถเหยียดข้อเข่าและเดินขาลาก เกิดการเคลื่อนหลุดของลูกสะบ้าอย่างถาวร ไม่สามารถดันกลับได้แล้ว มักพบการบิดและการเจริญผิดปกติของกระดูกขา

หากสุนัขเริ่มเป็นเกรดแรก ๆ เจ้าของอาจจะยังไม่พบอาการเพราะสุนัขยังคงเดินได้ปกติ แต่หากเขามีการเดินยกขา ขาบิด ร้องปวด หรือเหยียดข้อเข่าไม่ได้ ควรพามาพบสัตวแพทย์เพราะมีโอกาสที่สุนัขเป็นโรคสะบ้าเคลื่อนเกรดสูงแล้ว

วิธีการรักษาโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข

การรักษาขึ้นอยู่กับเกรดความรุนแรงของโรค หากอาการยังไม่หนักจะใช้วิธีการรักษาทางยา ร่วมกับการทำกายภาพและควบคุมน้ำหนัก แต่ถ้ามีอาการตั้งแต่เกรด 2 ขึ้นไปจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีจุดประสงค์เพื่อจัดแนวกระดูกสะบ้าให้อยู่ในร่องของกระดูกต้นขาหลัง

สัตวแพทย์ต้องตรวจดูว่าเอ็นภายในข้อเข่าหรือหมอนรองข้อเข่าฉีกขาดหรือไม่ ร่องหัวเข่ามีความตื้นลึกอย่างไร ถ้าตื้นมากก็ต้องศัลยกรรมให้ลึกขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายเทคนิค เมื่อสามารถทำให้ลูกสะบ้ากลับเข้ามาอยู่ในร่องหัวเข่าได้ดังเดิมแล้ว ต้องพิจารณาแนวของกระดูกขาเป็นรายต่อไป เพราะหากขายังมีการโค้งงอ ในอนาคตก็จะดึงรั้งให้ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดจากร่องหัวเข่าได้อีก

การทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด

การกายภาพบำบัดมักจะทำในสุนัขที่หลังการผ่าตัดยังคงมีการเขย่งขาหรือลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากสุนัขเหล่านี้มีภาวะสะบ้าเคลื่อนเรื้อรังก่อนการผ่าตัด แต่สำหรับสุนัขที่ผ่าตัดแล้วผลออกมาดี มีการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้

น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ (หมอตั๋ง) สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “สำหรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ไม่ได้แนะนำว่าจะต้องมากายภาพ เพราะส่วนใหญ่สุนัขจะกายภาพด้วยตัวของเขาเองอยู่แล้ว เจ้าของไม่จำเป็นต้องเสียเงิน ในเมื่อเขาเดินได้ดีอยู่แล้ว แล้วก็เดินได้ดีด้วย ดังนั้นหลังการผ่าตัดจึงควรให้สุนัขได้ใช้ขาโดยทันที ปล่อยให้เขาเดินและใช้ขาให้ได้มากที่สุด”

ขอบคุณข้อมูลจาก :  โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน