วิธีดูแลสุขภาพ โรคกินไม่หยุด

รู้จัก โรคกินไม่หยุด กินมากผิดปกติแม้จะไม่หิว หลังกินจะโกรธตัวเองที่กินมากไป

เช็คสัญญาณ โรคกินไม่หยุด อาการ Binge Eating Disorder โรคนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

Home / HEALTH / รู้จัก โรคกินไม่หยุด กินมากผิดปกติแม้จะไม่หิว หลังกินจะโกรธตัวเองที่กินมากไป

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder (BED) ที่นักร้อง ไอซ์ – ศรัณยู วินัยพานิช ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ผ่านทางยูทูบช่อง ICE SARUNYU OFFICIAL หลังจากที่ได้ผ่านการรักษาปรับพฤติกรรมให้มีอาการที่ดีขึ้นแล้ว ใครที่มีอาการเข้าข่ายหรือกำลังประสบปัญหากับโรคนี้ลองอ่านเป็นแนวทาง

โรคกินไม่หยุด กินมากผิดปกติแม้จะไม่รู้สึกหิว

Binge Eating Disorder (BED) หรือ โรคกินไม่หยุด คนที่เป็นจะมีอาการกินอาหารในปริมาณมากผิดปกติ แม้จะไม่รู้สึกหิวก็ตาม โดยที่จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ คือจะกินอาการจนอิ่มแน่นท้องและไม่สามารถกินต่อได้ หลังจากกินเสร็จผู้ป่วยก็จะเกิดความรู้สึกผิด (Guilty pleasure) ความรู้สึกรังเกียจ หรือโกรธต่อตนเอง ที่กินอาหารมากเกินไป สำหรับโรคนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังหรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

เช็คสัญญาณ อาการ Binge Eating Disorder

  • พฤติกรรมการกินมากกว่าปกติ: ผู้ป่วยจะมีการกินอาหารที่มากกว่าปกติ ควบคุมตนเองให้หยุดกินไม่ได้ แม้จะอิ่มแน่นแล้วก็ตาม กินมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว จะหยุดกินก็ต่อเมื่อรู้สึกอิ่มมากๆ จนไม่สบายตัวหรือไม่สามารถกินต่อได้
  • ผู้ป่วยไม่มีพฤติกรรมที่จะลดความอ้วน: ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคนี้ ไม่มีพฤติกรรมที่จะลดความอ้วน อย่าง ออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้ยาระบาย หรือล้วงคออ้วก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นอาการของโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) รวมไปถึงผู้ป่วยอาจจะมีพฤติกรรมที่กักตุนอาหารไว้ในที่ต่าง ๆ ใกล้ตัว
  • ความถี่ของอาการบ่งชี้ความรุนแรงของโรค: ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจมีอาการตั้งแต่ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ บางรายที่อาการรุนแรง อาจพบพฤติกรรมดังกล่าวประมาณ 14 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติกรรมดังกล่าวเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เป็นอย่างต่อเนื่องกัน 3 เดือน แพทย์ก็อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคกินไม่หยุดเช่นกัน
  • ความผิดปกติทางอารมณ์ ชอบกินคนเดียว รู้สึกผิดหลังกินเสร็จ: ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติทางอารมณ์เกิดขึ้นร่วมด้วย สังเกตได้จากผู้ป่วยจะกินอาหารคนเดียว เพราะรู้สึกอายเวลากินเยอะต่อหน้าคนอื่น และภายหลังจากรับประทานไปแล้วมักรู้สึกผิด เศร้า โกรธ ละอายใจ รังเกียจ หรือโทษตนเองที่รับประทานมากเกินไป

สาเหตุการเป็น โรคกินไม่หยุด และกลุ่มเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง อย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิวที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกายมีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้ และยังมีการคาดกันอีกด้วยว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น

  • โรคอ้วน ผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งมักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว แต่อาการของโรคนี้ก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน จากการศึกษาพบว่าจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่เพศชายก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดได้
  • มีพฤติกรรม ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกฮอล์ เป็นประจำ
  • ไม่มั่นใจในตนเอง ขาดความมั่นใจในรูปร่าง และมีความพึงพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ
  • มีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือเคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก
  • เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างการสูญเสียครอบครัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย
  • คนในครอบครัวเคยเป็น คือมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
  • มีภาวะทางจิตอย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder)

โรค Binge Eating Disorder (BED) หรือ โรคกินไม่หยุด สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงอายุ 20 ตอนต้น สำหรับการรักษาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินความพอดีอยู่บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

วิธีป้องกันโรค กินไม่หยุด Binge Eating Disorder

ทางการแพทย์ทราบเพียงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ
  • เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดกับอารมณ์
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค

ข้อมูลจาก : www.pobpad.com