กฎหมาย ก่อสร้าง กันสาด ต่อเติมบ้าน หลังคา อิฐมวลเบา เพื่อนบ้าน โครงสร้าง

5 เช็กลิสท์ตรวจสอบให้รอบคอบก่อน ต่อเติมบ้าน จะได้ไม่มีปัญหาตามมา

คิดจะอยาก ต่อเติมบ้าน ทั้งที รู้แค่ว่าอยากได้ตรงไหนเพิ่ม แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรก่อนหลังดี เราจึงมีเช็กลิสต์ง่ายๆ แค่เติมความต้องการของคุณลงไป แล้วข้อมูลพวกนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจและลงมือทำงานกับบ้านหลังเดิมหลังนี้ได้ง่ายขึ้น อยาก ต่อเติมบ้าน เช็กง่ายๆ ตามลิสต์นี้ได้เลย 1 .อยากต่อเติมตรงไหน ฟังก์ชั่นอะไรที่อยากได้…

Home / DECOR / 5 เช็กลิสท์ตรวจสอบให้รอบคอบก่อน ต่อเติมบ้าน จะได้ไม่มีปัญหาตามมา

คิดจะอยาก ต่อเติมบ้าน ทั้งที รู้แค่ว่าอยากได้ตรงไหนเพิ่ม แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรก่อนหลังดี เราจึงมีเช็กลิสต์ง่ายๆ แค่เติมความต้องการของคุณลงไป แล้วข้อมูลพวกนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจและลงมือทำงานกับบ้านหลังเดิมหลังนี้ได้ง่ายขึ้น

อยาก ต่อเติมบ้าน เช็กง่ายๆ ตามลิสต์นี้ได้เลย

1 .อยากต่อเติมตรงไหน ฟังก์ชั่นอะไรที่อยากได้
ก่อนจะต่อเติมต้องรู้จุดประสงค์ตั้งแต่แรกก่อนว่า เราต้องการเพิ่มฟังก์ชั่น หรือการใช้งานแบบไหนให้กับบ้าน เพื่อที่จะได้วางแผนต่อไปในเรื่องงานโครงสร้างและวัสดุ เพื่อออกแบบและประสานงานกับผู้รับเหมาต่อไป การต่อเติมก็แบ่งได้อีก ว่าเป็นการต่อเพื่อเติมฟังก์ชั่นใหม่ เช่น การเพิ่มห้อง เพิ่มพื้นที่ระเบียงชั้นบน เป็นต้น และการต่อเติมหลังคาหรือกันสาดเป็นพื้นที่คนขึ้นไปใช้งานไม่ได้ เพราะจะต้องแยกจากกันในเรื่องกฎหมายอาคารในข้อต่อมา

ต่อเติมบ้าน

2. ตรวจสอบข้อมูลทางกฎหมาย และพรบ.ควบคุมอาคาร
ถึงจะเป็นพื้นที่บ้านของเราเอง แต่การต่อเติมบ้านก็มีเรื่องกฎหมายที่ครอบคลุมอยู่ นั่นก็เพราะเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเอง เพื่อให้ระยะห่างที่ต้องเว้นเหล่านี้เป็นทางสัญจรในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน และยังช่วยป้องกันความบาดหมางกับเพื่อนบ้านข้างเคียงในกรณีที่โครงสร้างใดๆ ยื่นเข้าไปในบ้านของบุคคลอื่น ข้อกฎหมายที่ควรรู้เรื่องบ้าน ได้แก่

– การต่อเติมอาคารด้านข้างเพิ่ม หากเป็นบ้านความสูงไม่เกิน 9 เมตร (บ้านชั้นเดียวไปจนถึงบ้านสามชั้น) ถ้าจะต่อเติมแบบมีหน้าต่างหรือช่องเปิดจำเป็นต้องเว้นระยะห่างจากขอบเขตที่ดินเพื่อนบ้านมากกว่า 2 เมตร แต่ถ้าจะต่อเติมแบบทึบ จำเป็นต้องเว้นมากกว่า 0.50 เมตร

– การต่อเติมหลังคาหรือกันสาด หากเป็นหลังคายื่นออกไปลอยๆ จำเป็นต้องเว้นระยะจากเพื่อนบ้านมากกว่า 0.5 เมตร แต่ถ้าเป็นระเบียงชั้นบน จำเป็นต้องเว้นจากขอบเขตที่ดินมากกว่า 2 เมตร

ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน

3. โครงสร้างต้องแยกจากบ้านเดิมเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่หรือแค่หลังคากันสาด แต่จำเป็นต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า โครงสร้างใหม่ที่จะเติมต้องไม่ยึดหรือติดต่อกับโครงสร้างเดิม เพราะโครงสร้างทั้งสองฝั่งรับน้ำหนักต่างกัน อัตราการทรุดลงในแต่ละปีจึงต่างกัน ดังนั้นหากฝั่งใดฝั่งหนึ่งทรุดมากกว่า จะได้ไม่ฉุดรั้งโครงสร้างอีกฟากไม่ถล่มตามกันลงมาด้วย

อีกอย่างคือ การเติมโครงสร้างใหม่หากไปยึดติดกับโครงสร้างเดิม ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มการรับน้ำหนักให้กับโครงสร้างเดิม ซึ่งยิ่งทำให้บ้านเดิมทรุดเร็วขึ้นด้วย ทางที่ดี โครงสร้างเก่าและใหม่จึงควรแยกออกจากการโดยสิ้นเชิง แล้วใช้เทคนิคการก่อสร้างในการเชื่อมต่อทั้งสองพื้นที่เข้าด้วยกันจะดีกว่า

วิศวกร

4. โครงสร้างเหมาะสมกับการใช้งาน
พอรู้แล้วว่าจะใช้ห้องใหม่นี้ทำอะไร ก็ถึงเวลาต้องลงมือออกแบบ ตั้งแต่งานโครงสร้างที่ควรเลือกโครงสร้างให้พอเหมาะพอดีกับการใช้งาน เช่น กลับมาคิดว่าการลงเสาเข็มจริงจังเลยจะเหมาะกับพื้นที่หรือเปล่า? เพราะการลงเสาเข็มจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายหลายส่วน บางทีการเติมพื้นที่ที่ไม่กว้างมากหรือพื้นดินที่มีงานท่องานระบบฝังอยู่ใต้ดิน การลงเสาเข็มก็อาจเกินความจำเป็นมากเกินไป อาจพิจารณาเป็นการใช้ฐานรากแบบอื่นแทน อย่างการใช้เสาเข็มสั้น โครงเหล็กกล่อง ร่วมกับโครงสร้างน้ำหนักเบา

5. ลดน้ำหนักให้โครงสร้าง
เพราะเป็นโครงสร้างต่อเติมที่ไม่ได้ยึดตรึงอยู่บนฐานรากแบบลึกเหมือนโครงสร้างหลัก การลดน้ำหนักให้กับวัสดุที่อยู่ภายในพื้นที่ต่อเติมจึงเป็นเรื่องสำคัญ วัสดุสำหรับก่อสร้างที่ควรเลือกใช้ ได้แก่ ผนังเบา อิฐมวลเบา ยิปซั่มบอร์ด หรือไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด ร่วมกับการจัดสมดุลให้กับพื้นที่ภายในห้องใหม่ให้สมดุลกันทั้งห้อง เช่นถ้าฝั่งหนึ่งเป็นโซฟา อีกฝั่งหนึ่งอาจเป็นชั้นวางของ กระจายน้ำหนักของเฟอร์นิเจอร์ให้เสมอกันทั่วทั้งห้อง

ตกแต่งภายใน

ดังนั้น ก่อนจะต่อเติมบ้านจึงควรทบทวนจุดประสงค์ของการใช้งานพื้นที่ให้ชัดเจน แล้วจึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทางที่ดีให้วิศวกรเป็นผู้ช่วยคำนวณและควบคุมราคาการก่อสร้างก็เป็นเรื่องดีต่อทั้งส่วนต่อเติมของเราเองและความคุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไป