ครัวไทย บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง บ้านไม้ สร้างบ้าน เรือนไทย

รีวิวสร้าง บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง พื้นที่ใช้สอย 327 ตร.ม. งบ 5 ล้านบาท

เราอาจจะโหยหาอดีตในวันที่อนาคตหมุนเร็วขึ้นทุกทีๆ ในยุคที่รูปแบบโครงสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า วัสดุก่อสร้างใหม่ๆ เทคนิควิธีก่อสร้างใหม่ๆ มีทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เลือกใช้กันมากมาย แน่นอนว่ามันทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น เราสามารถสร้างบ้านสวยๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ในสายตาแอดแล้ว แบบบ้านเก่าๆ อย่าง บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง นี่เปี่ยมเสน่ห์ยิ่งนัก เพราะต้องใช้ช่างฝีมือ ทักษะความชำนาญ…

Home / DECOR / รีวิวสร้าง บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง พื้นที่ใช้สอย 327 ตร.ม. งบ 5 ล้านบาท

เราอาจจะโหยหาอดีตในวันที่อนาคตหมุนเร็วขึ้นทุกทีๆ ในยุคที่รูปแบบโครงสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า วัสดุก่อสร้างใหม่ๆ เทคนิควิธีก่อสร้างใหม่ๆ มีทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เลือกใช้กันมากมาย แน่นอนว่ามันทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น เราสามารถสร้างบ้านสวยๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ในสายตาแอดแล้ว แบบบ้านเก่าๆ อย่าง บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง นี่เปี่ยมเสน่ห์ยิ่งนัก เพราะต้องใช้ช่างฝีมือ ทักษะความชำนาญ ความละเอียดอ่อนในการก่อสร้างมากมาย จัดได้ว่าเป็น ศิลปะอย่างหนึ่งที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน แถมยังเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทยเราเป็นอย่างดี แอดจึงขอเชิญคุณมาชม บ้านเรือนไทยสร้างใหม่หลังนี้กัน

รีวิวสร้าง บ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง
พื้นที่ใช้สอย 327 ตร.ม.

บ้านหลังนี้มีชื่อว่า Maison de Mamie (เมซองเดอมามี แปลว่า บ้านยาย) บรรยากาศของเรือนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวเรือนสีครีม พื้นที่ 2 ไร่ มีบึงบัว ติดคลองสำโรง หลัง ร.ร.คลองบางแก้ว จ.สมุทรปราการ มีที่จอดรถภายในสวน  แต่เดิมก่อนจะเป็น Maison de Mamie เคยเป็นร่องสวนผลไม้มาก่อน ซึ่งเป็นบ้านของคุณยายเจ้าของสถานที่ เมื่อคุณยายจากไป สวนและที่ดินถูกทิ้งร้างไว้นานหลายสิบปี ก่อนที่จะสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา

โครงสร้างบ้าน
โครงสร้างบ้านเป็นไม้ทั้งหมด

Maison de Mamie เรือนไทยสีครีมริมคลอง เป็นของคุณทรงพล และ คุณ อัญรัตน์ เพ็ญสมบูรณ์  โครงการพื้นที่ขนาด 2 ไร่

พื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน
ชั้นบน 11 เมตร x 12 เมตร = 132 ตารางเมตร
ชั้นล่าง 13 เมตร x 15 เมตร = 195 ตารางเมตร

งบก่อสร้างเฉพาะตัวบ้าน 5 ล้านบาท

ระยะเวลาก่อสร้าง ประมาณ 1 ปี

– สิงหาคม – กันยายน 2561 (เคลียร์พื้นที่ , ทำถนนด้านหน้าและด้านใน , ขุดรอกร่องสวน,ถมพื้นที่)
– ธันวาคม 2561 – มีนาคม 2562 (บริษัทรับสร้างบ้านเริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ)
– พฤษภาคม 2562 – มิถุนายน 2562 (ระบบไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย)
– กรกฎาคม 2562 (ตกแต่งภายใน, ระบบแอร์ )

ทาสี

ปัญหาระหว่างการก่อสร้าง

1.ซอยทางเข้าแคบ ทำให้เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้าง มีข้อจำกัดคือ รถสิบล้อเข้าไม่ได้ ทำให้ต้องใช้รถหกล้อทั้งการขนไม้มาสร้างบ้าน ดิน เศษอิฐ เศษปูน ในการพัฒนาที่ดินและทำถนนทางเข้า รวมทั้งทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากขึ้นตามไปด้วย จากการขนส่งที่ลำบากและยุ่งยากกว่าเดิม

2. เนื่องจากที่ดินเดิมเป็นร่องสวน พื้นที่ต่ำ มีน้ำท่วมขัง การพัมนาพื้นที่ต้องใช้งบประมาณสูง ต้องใช้รถหกล้อขนดินเป็นจำนวนหลายเที่ยวกว่าปกติ

3.เพื่อนบ้านรอบข้าง สร้างบ้านไว้พื้นฐานไม่แข็งแรง การสร้างบ้าน การวางเสาเข็ม ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับบ้านรอบข้าง จ. สมุทรปราการ ดินจะอ่อน เราจึงต้องเพิ่มจำนวนเสาเข็มเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวบ้าน หรือ อาจจะต้องใช้เสาเข็มไมโครไพล์หรือเสาเข็มเจาะในการวางฐานราก ซึ่งใช้งบประมาณที่สูงมากในการก่อสร้าง แต่เนื่องจากการสร้างบ้านไม้ จะมีน้ำหนักเบากว่าบ้านปูน เราจึงใช้เสาเข็มแบบตัวไอ และใช้แรงงานคนในการกดเสาเข็ม แต่เพิ่มจำนวนเสาเข็มหลุมละ 4 ต้น เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับตัวบ้าน

บ้านเรือนไทย
เส้นสายที่สวยงามของงานไม้ไทย

4.การสร้างบ้านไม้ไทย จะมีการไสไม้ ทำให้เกิดผลกระทบกับบ้านรอบข้าง เกี่ยวกับมลภาวะทางเสียง ขี้เลื่อย และฝุ่นจากการไสไม้ เราต้องขึงสแลนที่มีตาข่ายละเอียดและมีความสูงมากพอ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่จะฟุ้งไปรบกวนเพื่อนบ้านได้

5. พื้นที่ที่ถมทับร่องสวน มีความเสี่ยงที่จะยุบตัว ไม่เหมาะสำหรับการสร้างบ้าน จึงได้เปลี่ยนสถานที่สร้างบ้าน ไปอยู่ริมคลองซึ่งเป็นพื้นที่สูง และมีการถมที่จากเรือขุดจนดินแน่นเป็นเวลาหลายปี เราได้ถมที่ปรับระดับพื้นจนเสมอ เพื่อสร้างบ้านริมคลองแทนบริเวณร่องสวน ซึ่งปัจจุบันได้ใช้เป็นส่วนของลานจอดรถและแปลงผัก

6. ปัญหากรณีพิพาทของเจ้าของที่ดินใกล้เคียง เนื่องจากเราเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จึงต้องไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทจนสำเร็จจ่ายเงินซื้อทางออก และบริจาคที่ดินส่วนหนึ่งของเราออกเป็นถนนสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีถนนสาธารณะขนาดกว้าง 4 เมตร ใช้งานได้ มีรถเข้าถึงบ้าน ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

ปรับปรุงพื้นที่
ทำถนน

7. เราใช้บริการของบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งจะไม่รวมงานฐานราก พื้นชั้นล่าง ระบบไฟฟ้า น้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ห้องน้ำ ห้องครัว ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการหาผู้รับเหมาและช่างมาดำเนินงานต่อ

8. การเทพื้นปูนชั้นล่าง ที่มีพื้นที่กว้าง ใช้ปูนผสมเสร็จ แต่เนื่องจากรถโม่ปูนขนาดเล็กมีจำนวนน้อย การขนส่งมีปัญหาเข้ามาที่หน้างานไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้มีรอยต่อของเนื้อปูนที่ผสมไม่เข้ากัน ปัญหาของมาตรฐานช่างรับเหมาไม่ได้ปรับระดับพื้นก่อนการเท พื้นเป็นแอ่งบางส่วน ทำให้มีปัญหาฝนตกน้ำขัง

9. ปัญหาจากการติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำพื้นไม้ การวางท่อ ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญการเข้ามาทำ ทั้งช่างประปาและช่างไม้ เพราะต้องคำนึงถึงความสวยงาม และต้องไม่กระทบกระเทือนกับคานไม้ที่อยู่ด้านล่าง การเลือกสุขภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสไตล์ของบ้าน ขนาดของห้องน้ำ

ครัวไทย
บานเฟี้ยม

10. การติดตั้งประตูบานเฟี้ยมและผนังครัว ใช้บานเฟี้ยมไม้สักเก่าจากหลายๆ แหล่ง เช่น บางโพ, อ่อนนุช การหาช่างไม้ที่มีฝีมือเข้ามาติดตั้ง และมีความชำนาญจะหายาก และค่าแรงสูง ช่างแต่ละสาขามีความชำนาญต่างกัน เมื่อติดตั้งบานเฟี้ยมและผนังแล้ว ก็ต้องหาช่างติดตั้งกระจกเข้ามาทำงานต่อ เพราะเป็นเครื่องมือเฉพาะด้าน เจ้าของบ้านควรมีเวลาในการสรรหา และเลือกช่างแต่ละด้าน ไม่ควรจ้างช่างรับเหมาที่รับงานครบวงจร เพราะจะมีปัญหาเรื่องค่าแรงบานปลาย

กว่าจะมาเป็นบ้านไม้เรือนไทยที่สวยงามขนาดนี้ หลานของคุณยายเป็นผู้สืบทอดและทุ่มเทพัฒนาที่ดินผืนนี้จนกลายเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานขนาดเล็ก แนวอบอุ่น ใกล้ๆ กันมีชุมชนที่ทำอาชีพต่อเรือแข่งโบราณ ให้ได้เที่ยวชมกัน เมื่อเที่ยวชมสถานที่เสร็จ จะเลยไปไหว้พระที่วัดหลวงพ่อโต เที่ยวตลาดน้ำโบราณบางพลี บางปู หรือเมืองโบราณต่อได้ เดินทางไปไม่ไกลกันนัก นับเป็นการพัฒนาที่ดินบ้านเกิด อนุรักษ์แบบบ้านงานศิลป์แบบไทยๆ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ อัญรัตน์ เพ็ญสมบูรณ์
ภาพสวยๆ จาก maisondemamiecafe