10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพัฒนา “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า” ของ BMW

BMW มุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ตระกูล i พร้อมพัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไปพร้อมกัน ดังนั้นเราจะมาดูว่า BMW ได้พัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไปถึงขั้นไหน

Home / AUTO / 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพัฒนา “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า” ของ BMW

ปัจจุบันรถยนต์ทุกค่ายต่างมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับรถยนต์ในค่ายของตัวเอง แต่หัวใจของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นคือ แบตเตอรี่รถไฟฟ้า ซึ่งค่ายรถยนต์อย่าง BMW ก็มุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ตระกูล i และก็ยังไม่ลืมที่จะพัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไปพร้อมกัน ดังนั้นเราจะมาดูว่า BMW ได้พัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไปถึงขั้นไหนกัน

  1. BMW ประกาศว่าจะผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้ 25 รุ่นภายในปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่เคยวางไว้ว่าจะทำสำเร็จในปี 2025 โดยครึ่งหนึ่งเป็นรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบสมบูรณ์ 
  2. เมื่อปีที่แล้ว (2019) BMW ได้ก่อตั้งศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ The BMW Group Battery Cell Competence Center บนพื้นที่ขนาด 130,000 ตารางฟุต ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานอยู่มากกว่า 200 คน
  3. ปัจจุบันการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ไกลถึง 375 ไมล์ หรือราว 600 กิโลเมตร และแน่นอนว่าจะวิ่งได้ไกลขึ้นอีกเรื่อยๆ 
  4. อายุการใช้งานแบตเตอรี่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้รถ เช่น การใช้เครื่องชาร์จแบบด่วนบ่อยๆ ไม่เพียงเท่านั้น อุณหภูมิของสภาพแวดล้อม, จำนวนรอบ, ระดับการคายประจุ และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่ได้ทั้งสิ้น 
  5. ที่ผ่านมาแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานเกินความคาดหมาย จนทำให้ BMW ตัดสินใจขยายการรับประกันสำหรับแบตเตอรี่ของรถยนต์รุ่น BMW i3 ในสหภาพยุโรปออกไปจาก 60,000 ไมล์เป็น 100,000 ไมล์ หรือ 100,000 กิโลเมตรเป็น 160,000 กิโลเมตร
  1. BMW Group ได้เตรียมหาหน้าที่ที่ 2 สำหรับแบตเตอรี่รถไฟฟ้าหมดอายุมาทำประโยชน์ได้ต่อ เพราะถึงหมดอายุแต่ยังสามารถเก็บพลังงานได้อีกราว 70 – 80% เลยทีเดียว 
  2. หน้าที่ที่ 2 เช่น นำแบตเตอรี่ 2,600 ตัวไปติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 85 x 20 ฟุต เพื่อใช้เป็นตัวเก็บพลังงานสำรอง ช่วยให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเกิดความเสถียรมากขึ้น และยังสามารถเก็บพลังงานสำรองในช่วงที่ไฟเกินได้อีกด้วย
  3. เมื่อแบตเตอรี่หมดความสามารถในการกักเก็บพลังงานอย่างสมบูรณ์ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป แต่กว่าวันนั้นจะมาถึงแบตเตอรี่รถไฟฟ้ายังทำหน้าที่ที่ 2 ได้อีกยาวถึง 10 ปี
  4. กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ จะเริ่มจากพนักงาน 3 คนใช้เครื่องตัดพิเศษเพื่อเปิดตัวโมดูลของแบตเตอรี่ออกมา จากนั้นวัตถุดิบเช่น อลูมิเนียม, ขั้วไฟฟ้า, ตัวกั้น ทั้งหมดจะถูกนำไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องทำลายชนิดพิเศษที่ใช้กระแสไฟจากแบตเตอรี่ที่ปลดระวางแล้วนั่นเอง ส่วนเซลล์แบตเตอรี่จะถูกนำไปหลอมในเตาและแยกโลหะออกมาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีบริษัทต่างๆ ที่เข้ามารับหน้าที่รีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของบีเอ็มดับเบิลยู
  5. กระบวนการเกี่ยวกับแบตเตอรี่ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่โรงงานของ BMW Group ในเมือง Leipzig ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ BMW i3 นั้นยังคงทำหน้าที่กักเก็บพลังงานสำรองได้อย่างดีเยี่ยม แถมยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับโรงงานได้อีกทางหนึ่ง

และทั้งหมดนี้คือไซเคิลอันน่าทึ่งของการพัฒนา แบตเตอรี่รถไฟฟ้า จากค่ายรถยนต์ที่ชื่อว่า BMW

ขอบคุณข้อมูลจาก : bmw.com