เดินทางแบบครอบครัว พร้อมเด็กเล็กอย่างไร ให้ปลอดภัยในยุค COVID-19

ถึงจะอยู่ในสถานะไหนเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางได้ ไม่ว่าจะต้องเดินทางคนเดียว เดินทางเป็นคู่ หรือเดินทางแบบครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆ แต่คำถามก็คือในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เราจะพาเจ้าตัวน้อยเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งมีคำตอบที่น่าสนใจจากคุณจัสมิน โบเซม (Jasmin Bozem) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความปลอดภัยของเด็กของ BMW ที่ไม่เพียงอธิบายถึงการใช้คาร์ซีทอย่างถูกวิธีสำหรับพ่อแม่…

Home / AUTO / เดินทางแบบครอบครัว พร้อมเด็กเล็กอย่างไร ให้ปลอดภัยในยุค COVID-19

ถึงจะอยู่ในสถานะไหนเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางได้ ไม่ว่าจะต้องเดินทางคนเดียว เดินทางเป็นคู่ หรือเดินทางแบบครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆ แต่คำถามก็คือในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เราจะพาเจ้าตัวน้อยเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งมีคำตอบที่น่าสนใจจากคุณจัสมิน โบเซม (Jasmin Bozem) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความปลอดภัยของเด็กของ BMW ที่ไม่เพียงอธิบายถึงการใช้คาร์ซีทอย่างถูกวิธีสำหรับพ่อแม่ แต่ยังแนะนำวิธีการดูแลรักษารถให้ปลอดภัยจากไวรัส COVID-19 อีกด้วย

ว่าด้วยตำแหน่งที่ตั้งของคาร์ซีท

คุณโบเซมแนะนำว่าคาร์ซีทว่า ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งคาร์ซีทที่สุดก็คือ ตำแหน่ง “เบาะหลังคนขับ” เพราะเป็นจุดที่มีการวิจัยแล้วว่าในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะได้รับผลกระทบข้างเคียงน้อยกว่าตำแหน่งอื่นๆ และควรอยู่ติดกับประตูรถ เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้อุ้มลูกขึ้น-ลง และจัดที่ทางให้ลูกน้อยได้สะดวกขึ้น

แต่ข้อควรระวังก็คือ กรณีที่ลูกร้องไห้ไม่หยุดอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่บางท่านตัดสินใจย้ายคาร์ซีทของเจ้าตัวเล็กมาอยู่ที่เบาะหน้าข้างคนขับแทน เพื่อจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ในความเป็นจริงจากข้อมูลสถิติระบุว่าเบาะหน้าข้างคนขับเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยน้อยที่สุดในรถ อีกทั้งการทำเช่นนั้นอาจเป็นสิ่งผิดกฎหมายในบางประเทศหรือบางเมืองได้ คำแนะนำจากคุณโบเซมคือควรตั้งคาร์ซีทให้หันไปข้างหลัง และเลื่อนตำแหน่งของเบาะให้ห่างจากถุงลมนิรภัยมากที่สุด รวมถึงปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยด้วย (ศึกษาวิธีปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยได้จากคู่มือของรถ)

ประเภทของคาร์ซีท

1. คาร์ซีทสำหรับทารก

คาร์ซีทกลุ่มนี้เป็นอุปกรณ์ระดับเริ่มต้น เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงน้ำหนัก 13 กิโลกรัม หรือประมาณ 15 เดือน ซึ่งลักษณะการติดตั้งคือให้หันหน้าเข้าหาเบาะ และคุณโบเซมแนะนำเพิ่มเติมว่าควรติดตั้งให้คาร์ซีทหันหน้าเข้าหาเบาะให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะปลอดภัยต่อเด็กที่สุดนั่นเอง

2.คาร์ซีทสำหรับเด็กโต

เมื่อเด็กโตขึ้นหรือกล้ามเนื้อแข็งแรงแล้ว อาจติดตั้งคาร์ซีทโดยหันไปทางหน้ารถได้ ซึ่งปัจจุบันคาร์ซีทในกลุ่มดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ คาร์ซีทตามมาตรฐานสากล (Universal child seats) ซึ่งสามารถติดตั้งได้กับรถทุกรุ่น และคาร์ซีทที่รองรับมาตรฐานกึ่งสากล (Semi-universal child seats) ที่อาจจะติดตั้งได้กับรถแค่บางรุ่นเท่านั้น

มาตรฐานด้านความปลอดภัย

ในระดับโลก ประเทศส่วนใหญ่เลือกที่จะอิงตามมาตรฐานของ UN Economic Commission for Europe หรือ ECE ซึ่งประกอบด้วย ECE-R44/03, R44/04 และ R129 (i-Size) โดยมาตรฐานของสหภาพยุโรปอย่าง ECE-R44 ได้แบ่งประเภทของคาร์ซีทเอาไว้เป็น 5 Group ดังนี้

  • Group 0: รองรับน้ำหนักได้มากที่สุด 10 กิโลกรัม/อายุไม่เกิน 9 เดือน 
  • Group 0+: รองรับน้ำหนักได้มากที่สุด 13 กิโลกรัม/อายุไม่เกิน 18 เดือน 
  • Group 1: รองรับน้ำหนักได้ระหว่าง 9 – 18 กิโลกรัม/อายุไม่เกิน 4 ขวบ
  • Group 2: รองรับน้ำหนักได้ระหว่าง 15 – 25 กิโลกรัม/อายุไม่เกิน 7 ขวบ
  • Group 3: รองรับน้ำหนักได้ระหว่าง 22 – 36 กิโลกรัม/อายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป

เมื่อเลือกคาร์ซีทตามเกณฑ์ข้างต้นได้แล้ว ก่อนจะตัดสินใจซื้อมีอีกสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ เอกสารรับรองที่มีลักษณะเป็นป้ายเล็กๆ ว่าคาร์ซีทดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีหมายเลขหนังสือรับรองที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศที่ทำการทดสอบด้วย

ติดตั้งคาร์ซีทให้ถูกวิธี

เมื่อเลือกซื้อคาร์ซีทมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการติดตั้งคาร์ซีทอย่างถูกวิธี ซึ่งหากเป็นเด็กอ่อน คำแนะนำคือควรติดตั้งคาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าเบาะ โดยใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยที่มากับตัวรถอย่าง LATCH/ISOFIX ยึดติดกับคาร์ซีทให้แน่นหนา

จัดท่าเจ้าตัวน้อยให้เหมาะสม

 คุณโบเซมยังได้กล่าวถึงการจัดท่าให้เด็กนั่งในคาร์ซีทด้วย ว่าควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรก นั่นคือ

– คาดเข็มขัดนิรภัยให้พอดี ไม่แน่นเกินไปและไม่หลวมเกินไป ที่สำคัญเด็กไม่ควรสวมเสื้อผ้าเนื้อหนา หากสวมเสื้อกันหนาวตัวใหญ่ๆ ควรถอดออกก่อน เพื่อจะได้ปรับระดับเข็มขัดให้ถูกต้อง
– ผู้ปกครองสามารถประเมินได้ว่าเข็มขัดนิรภัยรัดแน่นพอดีหรือไม่ ด้วยการใช้ฝ่ามือของตัวเองสอดเข้าไประหว่างตัวเด็กกับเข็มขัดนิรภัย หากพบว่าหลวมควรปรับให้กระชับขึ้น และควรตรวจสอบว่าเด็กจะไม่สามารถเบี่ยงตัวลอดผ่านเข็มขัดนิรภัยออกมาได้
– ปรับเข็มขัดนิรภัยให้พาดผ่านช่วงไหล่ของเด็ก และเข็มขัดบริเวณหน้าตักก็ไม่ควรปล่อยให้หลวมเกินไป
– เปิดระบบ Child Lock ที่ประตู ซึ่งจะช่วยป้องกันกรณีที่เด็กแอบกดปุ่มเปิดประตูเล่นในขณะที่ผู้ปกครองขับรถได้

ข้อแนะนำอื่นๆ

  • ไม่ควรปล่อยลูกเอาไว้ตามลำพังในรถ แม้การนั่งคาร์ซีทจะปลอดภัย แต่ผู้ปกครองไม่ควรจากไปทำธุระโดยปล่อยให้ลูกนั่งอยู่ในคาร์ซีทตามลำพังในรถ (แม้ว่าจะเปิดกระจกเอาไว้ก็ตาม) ควรพาเด็กออกไปด้วยเสมอ
  • ไม่ควรใช้เวลาในคาร์ซีทนานเกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ถ้าหากลูกน้อยอายุเกิน 3 เดือนขึ้นไป อาจสามารถเดินทางได้นานขึ้น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องหยุดจอดรถตามจุดพัก เพื่อให้เด็กได้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสมด้วย
  • ของเล่นเด็ก ตัวช่วยสำคัญให้เด็กเพลิดเพลินมากขึ้นระหว่างเดินทาง ผู้ปกครองอาจยึดติดของเล่นเอาไว้กับตัวเบาะด้วยสายรัดสั้นๆ เพื่อป้องกันเด็กปาของเล่นทิ้ง หรือไม่ก็เป็นตุ๊กตาตัวโปรดของเด็กก็ได้ เพื่อที่พวกเขาจะอุ่นใจมากขึ้น
  • เปลี่ยนเวลาเดินทาง ลองออกเดินทางในตอนกลางคืน หรือเวลาที่ลูกหลับ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่เด็กร้องไห้งอแงได้มากกว่า
  • ปรับวิธีการขับรถให้นุ่มนวลขึ้น เช่น ค่อยๆ เลี้ยว, ไม่เบรกทันทีทันใด 
  • หาขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็ก กรณีนี้คุณโบเซมแนะนำว่าขอใเป็นแค่มื้อว่างเล็กๆ ก็พอแล้ว
  • อุปกรณ์ที่ต้องมีเพิ่มเติมก็คือ ที่บังแดด, แผ่นหุ้มพนักพิง และพื้นรอง เผื่อในกรณีที่เด็กอาเจียน

ปกป้องครอบครัวจากไวรัส COVID-19

คำแนะนำสุดท้ายนั่นคือ จะปกป้องคนในครอบครัวอย่างไรหากมีคนที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เคยขึ้นมานั่งรถของเรา คุณโบเซมแนะนำว่า

  1. ให้จอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน 4 – 5 วัน โดยไม่ต้องมีใครไปจับต้อง เพราะเชื้อไวรัสจะตายไปเอง 
  2. ในกรณีต้องใช้รถก่อนช่วง 4 – 5 วัน ต้องทำความสะอาดรถให้เรียบร้อย โดยการเช็ดพื้นผิวต่างๆ ภายในตัวรถด้วยน้ำสบู่ และเปิดกระจกให้มีการระบายอากาศ รวมถึงในขณะขับรถก็ควรสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อความปลอดภัยด้วย

ไม่ว่าจะเป็นยุค COVID-19 หรือไม่ก็ตาม หากปฏิบัติตามนี้ก็สามารถเพิ่มบรรยากาศที่สนุกสนานร่วมกับคนในครอบครัวระหว่างการเดินทางได้แล้ว และหากผู้ขับขี่ขับรถตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดก็จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นไปอีก

ขอบคุณเนื้อหาจาก https://www.bmw.com/

ผู้ที่สนใจสนับสนุนบุคลาการทางการแพทย์ในการสู้ภัยโควิด สามารถดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์ชุด “BMW Fight COVID-19” ได้ในราคาชุดละ 60 บาท (100 Coins) ที่ https://store.line.me/stickershop/product/11507632 รายได้จากการดาวน์โหลดหลังหักค่าใช้จ่ายส่งมอบให้กับ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่างๆ)