โควิด-19 โควิดกลายพันธุ์ โอไมครอน

สธ. ห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยง ในทวีปแอฟริกาเข้าไทย สกัดโควิด “โอไมครอน”

กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้ (27 พ.ย.) เป็นต้นไป

Home / NEWS / สธ. ห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยง ในทวีปแอฟริกาเข้าไทย สกัดโควิด “โอไมครอน”

ประเด็นน่าสนใจ

  • กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้ (27 พ.ย.) เป็นต้นไป
  • เฝ้าระวังป้องกันโรคโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” ส่วนผู้ได้รับอนุญาตเดินทางแล้วให้กักตัว 14 วัน
  • ทั่วโลกยังมีข้อมูลระบาดวิทยาน้อย ประเทศต่าง ๆ ร่วมติดตามข้อมูลเพิ่มเติม

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์

โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประชุมและสรุปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าควรจะยกระดับสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์น่ากังวล และตั้งชื่อว่า “โอไมครอน” ซึ่งพบเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เริ่มที่ประเทศบอตสวานา และระบาด 5-6 ประเทศใกล้กันบริเวณแอฟริกาใต้ และตรวจเจอคนเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว ส่วนประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังตรวจรหัสพันธุกรรมยังไม่มีสายพันธุ์นี้ โดยยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง

“สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่บนโปรตีนหนามที่จับกับเซลล์มนุษย์ ต้องจับตาว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งมีการสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ว่า อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้ ส่วนพื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์นี้มีข้อมูลว่า ตรวจเจอเชื้อค่อนข้างมาก สะท้อนว่าอาจแพร่เชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่มากพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อรายงานว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหน” นพ.ศุภกิจกล่าว

เฝ้าระวัง “โอไมครอน”

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนผู้เดินทาง 63 ประเทศเข้าระบบ Test&Go ไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกาแต่จะประสานโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากทุกระบบ ส่งตัวอย่างผลบวกทั้งหมดมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันโรคยังใช้ได้ผล ทั้งเว้นระยะห่าง ลดแออัด หน้ากาก ล้างมือ และไวรัสตัวนี้ตรวจด้วย RT-PCR ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามาทางอากาศไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะมีมาตรการดูแลได้ครบถ้วน สิ่งที่กังวลคือช่องทางบกที่ต้องเฝ้าระวังและขอให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศ

ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยา ลักษณะการระบาด ความรุนแรงของโรค ความเร็วการแพร่กระจายเชื้อ หรือความสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนและยา ของสายพันธุ์โอไมครอน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทั่วโลกกำลังร่วมกันจับตา ส่วนประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับประเทศต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก

มาตรการป้องกัน

ได้วางมาตรการเรื่องผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา คือ ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐบอตสวานา , ราชอาณาจักรเอสวาตินี , ราชอาณาจักรเลโซโท , สาธารณรัฐมาลาวี , สาธารณรัฐโมซัมบิก , สาธารณรัฐนามิเบีย , สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐซิมบับเว เข้าประเทศ ตั้งแต่วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เป็นต้นไป

ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้ จะให้กักตัว 14 วันทุกราย ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก และตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0 -1 , 5-6 และ 12-13 หากไม่พบเชื้อจึงอนุญาตให้ออกมาได้ นอกจากนี้ ยังจับตาประเทศอื่นๆ ที่อาจตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ได้ เนื่องจากมีระบบการเฝ้าระวังที่ดี อย่างฮ่องกงก็ตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้เดินทางไป จึงถือเป็นกรณีนำเข้า ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ หากเหตุการณ์เปลี่ยนจะเพิ่มมาตรการและชี้แจงให้ทราบต่อไป

“การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แถบแอฟริกาใต้มีการกลายพันธุ์ค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว คือวัคซีน ซึ่งทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อยที่สุด สิ่งที่ประชาชนจะร่วมกันทำให้ประเทศปลอดภัย คือ ร่วมกันฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง มาตรการ COVID Free Setting ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน” นพ.โอภาสกล่าว

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : [เกาะติด] โควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ Omicron (B.1.1.529) ทุกประเด็น